ค่าเงินเยนแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 17 เดือนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ จากท่าทีระมัดระวังของเฟดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยเช้านี้ค่าเงินเยนแข็งค่าลงมาบริเวณ 110.86 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่เมื่อคืนนี้ปรับแข็งค่าลงมามากที่สุดนับตั้งแต่ตุลาคมปี 2014 บริเวณ 110.67 เยน/ดอลลาร์
ขณะที่ค่าเงินยูโรเช้านี้ปรับแข็งค่าขึ้นมาบริเวณ 1.1321 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1183 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวทิศทางตรงข้าม โดยดัชนีดอลลาร์ร่วงลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนบริเวณ 94.65 ก่อนที่เช้านี้จะทรงตัวแถวระดับ 94.74
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาในเกณฑ์ที่ดี นำโดยผลสำรวจดัชนีภาคการผลิตประจำเขตฟิลาเดเฟียประจำเดือนมีนาคมออกมาดีขึ้นอย่างมากแตะระดับ 12.4 จากเดิมที่ระดับ -2.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการฟื้นตัวมากที่สุดในรอบ 7 เดือน เพราะได้รับแรงหนุนจาภาคการขนส่งทางเรือ และยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าภาคการจ้างงานในกลุ่มการผลิตจะยังอ่อนแอ
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ พบว่า ออกมาน้อยกว่าที่คาด แต่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 7,000 ราย สู่ระดับ 265,000 ราย โดยยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 รายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 53
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเผย จำนวนการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ออกมาเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดเล็กน้อยบริเวณ 5.54 ล้านตำแหน่ง แต่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2.6 แสนตำแหน่งในเดือนมกราคม (ทั้งนี้ ข้อมูลเดิมในเดือนมกราคมปรับทบทวนลงจาก 5.61 ล้านตำแหน่ง หรือถูกปรับลดลงมา 3.3 แสนตำแหน่ง)
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก MUFG Union Bank ระบุว่า ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งหากพวกเรายังคงเห็นรายงานที่แข็งแกร่งขึ้นเช่นนี้ เราอาจได้เห็นเฟดทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้ตามกำหนดการ
ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ หรือ เอสเอ็นบี ประกาศคงดอกเบี้ยระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ -0.75% และคงเป้าหมายดอกเบี้ย Libor ระยะ 3 เดือนที่ -1.25% และ -0.25% ตามตลาดคาด
อย่างไรก็ดี เอสเอ็นบี ประกาศปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของสวิสเซอร์แลนด์ปีนี้ลงสู่ระดับ 1.0-1.5%จากคาดการณ์เดิมระดับ 1.5% และปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ระดับ -0.8% ในปีนี้ จากคาดเดิม -0.5%เนื่องจากคาดว่าจะเผชิญกับภาวะเงินฝืดนานกว่าที่คาดไว้ จากการทรุดตัวของราคาน้ำมันดิบ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
บีโออี ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 7 เดือนติดต่อกัน รวมทั้งคงการเข้าซื้อ QE ที่ระดับ 3.75 แสนล้านปอนด์ตามคาด
รายงานจาก MKS News ระบุว่า ธนาคารกลางแอฟริกาใต้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 7.00% จากเดิมที่ระดับ 6.75%
น้ำมันดิบ WTI ปิด +4.5% ที่ระดับ 40.20 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด +3% ที่ระดับ 41.54 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้น หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของกาตาร์ เผยว่า กลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตนอกโอเปกจะจัดการประชุมร่วมกันในวันที่ 17 เมษายนนี้ เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดคาดหวังว่า จะมีผู้ผลิตน้ำมันเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวประมาณ 15 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกประมาณ 73%