ในวันพุธนี้จะมีการประชุม กนง. ซึ่งนักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับเดิมที่ 1.5%
ทั้งนี้ Moody’s Analytics คาดการณ์ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับเดิมที่ 1.5% โดยระบุในรายงานเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มต้นปี 2016 ได้ไม่ดีนัก อุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงได้กดดันการส่งออกของไทย และได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศเองก็ประสบปัญหาไม่ต่างกันมากนัก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจจะดูไม่ดีนักและกดดันให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ Moody’s Analytics มองว่า กนง. ยังไม่น่าที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ความกังวลต่อระดับหนี้สินภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ที่ประชุม กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า 1.มาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐปัจจุบันน่าจะเพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าได้ 2.การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่ตลาดเงินและตลาดทุนยังคงมีความผันผวนสูง อาจลดทอนประสิทธิภาพในการส่งผ่านผลของนโยบายดังกล่าวไปสู่ภาคเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี มองว่าผลกระทบจากมาตรการอีซีบี อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนอาจเป็นแรงกดดันให้ ธปท.ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้ อย่างไรก็ดีตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมาค่าเงินบาทแข็งค่าเพียง 2.3% เทียบกับค่าเงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่า 4.2% และค่าเงินรูเปียอินโดนีเซียแข็งค่า 5.1% ดังนั้นจึงมองว่ามีโอกาสไม่มากนักที่ธปท.จะลดดอกเบี้ยในวันที่ 23 มีนาคม เพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อน และอีไอซี ยังมองว่าเฟดมีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ของปีนี้ ทำให้ค่าเงินบาทยงมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยประมาณว่าค่าเงินบาทจะอยู่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ฯในช่วงสิ้นปีนี้
ที่มา: CNBC, Ryt9, ฐานเศรษฐกิจ