ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกว่า 1% เพราะได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดอาจจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า จากถ้อยแถลงของสมาชิกหลายราย โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวขึ้น 96.26 ด้านค่าเงินยูโรยังทรงตัวแถวระดับ 1.1165 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่เช้านี้ยูโรอ่อนค่ามาที่ระดับ 113.16 เยน/ดอลลาร์
ถ้อยแถลงล่าสุดของ นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ เมื่อคืนนี้ ยังคงกล่าวย้ำว่า โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ หากข้อมูลตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัว โดยเขาเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อจะมีเสถียรภาพ และจะทำให้เราทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้
ทั้งนี้ เฟดจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 26-27 เมษายนนี้
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์ออกมาดีขึ้นเกินคาดเล็กน้อยบริเวณ 265,000 ราย แต่ออกมาแย่ลงจากเดิมประมาณ 6,000 ราย จากข้อมูลก่อนหน้าที่มีการปรับทบทวนดีขึ้น 259,000 ราย
อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 รายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 54 จึงยังบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ด้านยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯประจำเดือนกุมภาพันธ์ออกมาดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อยที่ระดับ -2.8% แต่ยังคงแย่ลงจากเดิมที่ระดับ 4.7% ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ไม่รวมภาคการขนส่งปรับลงมากกว่าที่คาดแตะระดับ -1.0% เดิมอยู่ที่ระดับ 1.7% โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวลงเพราะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และการทรุดตัวของราคาน้ำมันดิบ
น้ำมันดิบ WTI ปิด -0.8% ที่ระดับ 39.46 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -0.1% ที่ระดับ 40.44 เหรียญ/บาร์เรล โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด หลังจากที่ EIA เผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบปรับขึ้นติดต่อกัน 6 สัปดาห์
กองทุนไอเอ็มเอฟ ระบุว่า การทรุดตัวของราคาน้ำมันดิบ ไม่มีแนวโน้มจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกจนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับตัวขึ้น และเวลานั้นราคากลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะฟื้นตัว
ขณะที่การปรับตัวลงกว่า 65% ก่อนหน้านี้น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศนำเข้าน้ำมัน มากกว่าความเสียหายของประเทศส่งออกน้ำมัน