• สรุปข่าวเศรษฐกิจ (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 5 เมษายน 2559

    5 เมษายน 2559 | Economic News



หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางจีน ระบุว่า S&P และ Moody’s มองจีนในแง่ร้ายมากเกินไป

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางจีน ระบุว่า ได้ตอบโต้ S&P และ Moody’s ซึ่งปรับลดมุมมองต่อเศรษฐกิจและบริษัทของจีน ว่ามองจีนในแง่ร้ายเกินไป

โดยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของจีนแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งการลงทุนอสังหาริมทรัพย์, กำไรของภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาเป็นบวกได้ใน 2 เดือนแรกของปี และ PMI ในเดือน มี.ค. เองก็ฟื้นตัวเช่นกัน


IMF ระบุว่า การชะลอตัวของจีน จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

IMF ระบุว่า ความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงทั้งในสหรัฐฯและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

โดยจากการคำนวณของ IMF ระบุว่า ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ (จีน, บราซิล, อินเดีย, รัสเซีย, แอฟริกาใต้) ได้ส่งผลกระทบมากขึ้น 40% นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ต่อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่แห่งอื่นๆ

ทั้งนี้ IMF กล่าวว่า ถึงแม้ระบบการเงินของจีนจะมีความสัมพันธ์โดยตรงที่กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆอาทิ สหรัฐฯ เพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอย่าง ญี่ปุ่น รวมถึง การส่งออกของสหรัฐฯไปจีน ก็มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

แต่ IMF พบว่า จีนมีความสามารถในการกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นแห่งอื่นๆ จากการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆของจีน

หัวหน้าฝ่ายตลาดเงินและตลาดทุนของ IMF ระบุว่า “เราตระหนักมานานแล้วว่าจีนนั้นพิเศษ ในแง่ที่ข้อมูลเศรษฐกิจของจีนนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดแห่งอื่นๆได้”


ผู้ว่าการบีโอเจ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยของบีโอเจอาจติดลบได้มากกว่านี้

ในวันนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ตอกย้ำจุดยืนของตนอีกครั้งว่า เขาจะเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างไม่ลังเลหากจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมาตรการ QE หรือ การลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับ -0.1% ก็ตาม

และระบุเพิ่มเติมว่าบีโอเจจะพิจารณามาตรการทางการเงินจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน


ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงต่อเนื่อง 3 วันทำการ

ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงอีก 0.81% ในวันนี้ สู่ระดับ 35.41 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวลดลง 0.64% สู่ระดับ 37.45 เหรียญ/บาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงต่อเนื่องในวันนี้ เนื่องจากความกังวลว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงจำกัดการผลิตได้ รวมถึงแรงกดดันจากความต้องการแก๊สโซลีนของสหรัฐฯที่ลดน้อยลง

ทั้งนี้ความต้องการแก๊สโซลีนในเดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ขณะที่ความต้องการน้ำมันโดยรวมของสหรัฐฯในเดือนดังกล่าวปรับตัวลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่มีกำหนดการประชุมในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อพิจารณาจำกัดระดับการผลิตน้ำมันดิบไว้เท่ากับเดือน ม.ค. อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้น้อยลงที่ข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถบรรลุผลได้ เนื่องจากซาอุดิอาระเบียที่ระบุว่าจะยอมเข้าร่วมก็ต่อเมื่ออิหร่านยอมเข้าร่วมเท่านั้น

นอกจากนี้ รัสเซีย ได้ผลิตน้ำมันดิบมากขึ้นในเดือน มี.ค. สู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปีที่ระดับ 10.91 ล้านบาร์เรล/วัน ทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1987 ซึ่งผลิตได้ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com