เมื่อวานนี้ค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงมาเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินเยน หลังจากอีซีบีตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ 0% รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ระดับ -0.4% พร้อมระบุว่าอีซีบีจะทำการผ่อนคลายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยเมื่อวานนี้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมาทดสอบ 1.1270 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นหลังจาก นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี กล่าวว่า จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มียาวนานตราบเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของยูโรโซน โดยค่าเงินยูโรในเช้านี้แข็งค่าขึ้นแถว 1.1300 ดอลลาร์/ยูโร
ด้านดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวลงมาบริเวณ 94.554 ขณะที่ค่าเงินเยนทรงตัวเช้านี้บริเวณ 109.33 เยน/ดอลลาร์
ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการจาก BK Asset Management กล่าวว่า อีซีบียังคงผ่อนคลายนโยบายการเงิน เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงมีความเสี่ยงในภาวะขาลง และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับปัจจุบันหรือปรับลดลงอีกเพื่อขยายระยะเวลาเยียวยาออกไป ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอีซีบีไม่ได้มีแผนจะทำการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามการประชุมของบีโอเจและเฟดในสัปดาห์หน้า ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟดจะยังไม่มีมาตรการใดๆออกมาในการประชุมวาระนี้ แต่อาจส่งสัญญาณต่อตลาดในการเตรียมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วในช่วงเดือนมิถุนายน
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นไปอย่างผันผวน อันจะเห็นได้จาก จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์ที่ออกมาดีขึ้นเกินคาดอย่างมากแตะระดับ 247,000 ราย หรือมีผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานลดลง 6,000 รายเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยข้อมูลล่าสุดยังคงปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 300,000 รายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 59 และยังถือเป็นการปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 1973 หรือในรอบเกือบ 43 ปี
ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตประจำเขตฟิลาเดเฟียประจำเดือนเมษายนออกมาแย่ลงเกินคาดอย่างมากแตะระดับ -1.6 จากเดิมในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 12.4
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิด -2.3% ที่ระดับ 43.18 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -2.8% ที่ระดับ 44.53 เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด หลังรัสเซียและประเทศสมาชิกโอเปกบางแห่งส่งสัญญาณจะปรับเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ส่งผลให้นักลงทุนลดความต้องการเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบ
ขณะที่รายงานจาก IEA ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าภายในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่กำลังเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย