ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน หลังมีกระแสคาดการณ์ว่า บีโอเจจะขยายนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าอีซีบีจะตัดสินใจใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี เช้านี้ดัชนีดอลลาร์กลับมาอ่อนตัวลงเล็กน้อยแถวระดับ 95.027 ขณะที่ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวแถวระดับ 111.25 เยน/ดอลลาร์ และค่าเงินยูโรเช้านี้ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าระดับ 1.1228 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1289ดอลลาร์/ยูโร
รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า กลุ่มนักลงทุนทำการ Lock Profit จึงส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นระยะสั้น จากการอ่อนค่าในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังมีรายงานว่า บีโอเจอาจตัดสินใจทำการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในวาระการประชุมปรับทบทวนนโยบายที่จะสิ้นสุดในวันพุธนี้
ทั้งนี้ รายงานจาก Bloomberg ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ระบุว่า บีโอเจกำลังตัดสินใจจะขยายนโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับติดลบเพิ่มเติมแก่สถาบันการเงิน
แต่นักลงทุนบางส่วนยังเชื่อว่าบีโอเจอาจเลือกจะคงนโยบายการเงินไว้ เพื่อประเมินผลกระทบจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหลังจากที่ประกาศใช้ในการประชุม 29 มกราคาที่ผ่านมา
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีคำสั่งให้คณะรัฐบาลของเขาจัดทำงบประมาณฉบับพิเศษปรับโครงสร้างเงินทุนจากผลกระทบของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมืองคุมาโมโตล่าสุดโดยงบประมาณฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายนนี้
เมื่อวานนี้ นายเฉิน ยูลู รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า สถาบันการเงินต่างๆกำลังเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงมีแรงกดดันต่อภาวะขาลง
อย่างไรก็ดี เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกลางจีนกำลังปรับโครงสร้างนโยบายการเงินและหาทางควบคุมหรือปิดช่องโหว่ในการดำเนินการ
น้ำมันดิบ WTI ปิด +1.3% ที่ระดับ 43.73 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด +1.3% เช่นกัน ที่ระดับ 45.11 เหรียญ/บาร์เรล โดยตลาดปิดปรับตัวสูงขึ้น ขานรับรายงานของบริษัท เบเกอร์ ฮิวจ์ ที่ระบุว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 382 แท่น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 8 แท่น และเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 ขณะที่ EIA เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้วลดลง 24,000 บาร์ฌรล แตะระดับ 8.953 บาร์เรล/วัน จึงสะท้อนถึงภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวลง