ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงในเดือนนี้ช่วยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010
ดัชนี Bloomberg Commodity Index ซึ่งอิงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 22 ชนิด ในเดือนนี้ปรับตัวสูงขึ้น 7.7% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในเดือนนี้ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 ปี
ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอีก 16 สกุล เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยในวันนี้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกกว่า 1% สู่ระดับ 107.08 เยน/ดอลลาร์ แข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่ ต.ค. 2014 โดยในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นกว่า 4.1%
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Bank of Singapore ระบุว่า บีโอเจบริหารการคาดการณ์ของตลาดได้ไม่ดีนัก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดจะมีปฏิกิริยารุนแรงเช่นนี้
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในวันนี้
ราคาน้ำมันดิบในวันนี้ได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง โดย น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 0.54% สู่ระดับ 46.28 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวสูงขึ้น 0.38% สู่ระดับ 47.95 เหรียญ/บาร์เรล
ทั้งนี้แม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่นักวิเคราะห์บางส่วนยังคงกล่าวเตือนเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของน้ำมันดิบที่ยังไม่สู้ดี
นักวิเคราะห์จาก Commodities Watch ระบุว่า มีปัจจัยมากมายที่จะกดดันราคาน้ำมันดิบลง โดยในด้านปัจจัยพื้นฐานยังไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงปัญหาทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม OPEC ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกดดันราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองทางเทคนิค ราคาน้ำมันดิบน่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อ โดยคาดอาจจะสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ถึงระดับ 62 หรือ 62 เหรียญ/บาร์เรล
หากราคาน้ำมันดิบ WTI และ BRENT สามารถทรงตัวอยู่ในระดับนี้ได้ต่อไป ราคาน้ำมันดิบ WTI จะปรับตัวสูงขึ้นราว 16% และ น้ำมันดิบ BRENT จะปรับตัวสูงขึ้น 19% ในเดือนนี้
หากนับจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือน ก.พ. ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้วกว่า 76%