ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาแย่กว่าที่คาดอย่างมาก อันได้แก่ ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Manufacturing Index) ประจำเดือนพฤษภาคมออกมาที่ระดับ -0.9 จากระดับ 9.6 ในเดือนเมษายน ซึ่งข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้อ่อนตัวลงมา 94.51
ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.1319 ยูโร/ดอลลาร์ในช่วงปลายตลาดเมื่อคืนนี้ จากระดับ 1.1308 ยูโร/ดอลลาร์ในคืนวันศุกร์ ด้านค่าเงินบาทปรับแข็งค่าลงมาเล็กน้อยแตะระดับ 35.37 บาท/ดอลลาร์ และค่าเงินเยนเช้านี้ทรงตัวที่ระดับ 108.98 เยน/ดอลลาร์
โปรแกรม FedWatch ของ CME Group ระบุว่า กลุ่มนักลงทุนมองว่าเฟดมีโอกาส 4% ที่จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่ภาพรวมตลาดมีมุมมองว่าเฟดจะยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงต้นปี 2017 แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของเฟดจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
หนึ่งในเจ้าสมาชิกเฟดที่ไม่มีสิทธิร่วมโหวตการดำเนินนโยบายในปีนี้ ได้แก่ นายเจฟฟรี แลคเกอร์ ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ แสดงความคิดเห็นว่า เฟดอาจตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2% และตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง
น้ำมันดิบ WTI ปิด +3.3% ที่ระดับ 47.72 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้น 48.97 เหรียญ/บาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุน หลังรายงานจาก Goldman Sachs ระบุว่า ภาวะอุปทานล้นตลาดของตลาดน้ำมันได้สิ้นสุดลง และมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมัน WTI ในปีนี้
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2016 ที่ระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรล จากระดับ 45 เหรียญ/บาร์เรล
ด้าน Bank of America Merrill Lynch (BofAML) คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI ในช่วงสิ้นปีนี้มีโอกาสแตะระดับ 54 เหรียญ/บาร์เรล และจะมีราคาเฉลี่ยในปี 2017 ที่ระดับ 59 เหรียญ/บาร์เรล และ Barclays Bank กล่าวว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงไตรมาสแรก