• สรุปข่าวตลาดหุ้น (ภาคค่ำ) ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2559

    18 พฤษภาคม 2559 | SET News

ตลาดเอเชียอ่อนค่าลงในวันนี้เนื่องจากการปรับตัวขึ้นสูงของสภาวะเงินเฟ้อและความคิดเห็นของประธานเฟดบางสาขาก่อให้เกิดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นญี่ปุ่นฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในวันนี้หลังจากที่ญี่ปุ่นเผยตัวเลขการเติบโตในไตรมาส 1/2016 ที่ผ่านมาซึ่งเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งกว่า 1.7% เมื่อเทียบรายปี

ขณะที่ดัชนี MSCI’s broadest index of Asia-Pacific shares outside Japan ปรับตัวลดลง 0.8%

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทรงตัวในวันนี้ หลังค่าเงินเยนที่เคลื่อนไหวผันผวน โดยตอบรับกับข้อมูลเศรษฐกิจจำนวนมาก ทั้งตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคที่ออกมาดีกว่าคาดของสหรัฐฯกดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า และตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2016 ของญี่ปุ่นที่ดีกว่าคาดหนุนให้ค่าเงินเยนแข็งค่า

ปิดการซื้อขายวันนี้ ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวลดลง 0.05% สู่ระดับ 16,644.69 จุด

ตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นปรับตัวลดลงในวันนี้ จากการคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากขึ้น สืบเนื่องมาจากประธานเฟดบางสาขาออกมาระบุว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือน มิ.ย.

ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวลดลง 1.3% สู่ระดับ 2,807.51 จุด ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

ดัชนี Hang Seng ปรับตัวลดลง 1.5% สู่ระดับ 19,826.41 จุด

ทั้งนี้มึมุมมองต่อตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงของนักลงทุนนั้นได้อ่อนแอลงในช่วงระยะหลัง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาแย่ลง และความกังวลว่าทางการจีนอาจไม่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากกังวลต่อภาวะหนี้สินจำนวนมาก

รายงานจาก BofA Merrill Lynch Global Research ระบุว่า นักลงทุนคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดลงอย่างมากในเดือนนี้ โดยนักลงทุนที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง ได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50% จาก 22% ในเดือน เม.ย.

ฟิทช์คงอันดับเครดิต 4 แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย BBL, KBANK, SCB, KTB โดยคงอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Long-term Issuer Default Rating - IDR) ของบมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ 'BBB+' และคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ 'BBB'

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า" พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.15 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้น จากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 33.93 และเป็นการเพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับจากเดือนเมษายน 58

อย่างไรก็ตาม การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนพบว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก ได้แก่ การลงทุนภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 9.09) รองลงมาคือ การส่งออกสินค้า(ดัชนีเท่ากับ 10.45) และการบริโภคภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 17.16) ขณะที่ปัจจัยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยที่มีค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงที่สุดเท่ากับ 83.58 เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งที่ผ่านมา(ค่าดัชนีเท่ากับ 81.15)

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index : GSI) เดือนเม.ย.59 ว่า อยู่ที่ระดับ 44.9 ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากโดยรวมยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนว่าประชาชนในระดับฐานรากยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก

บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com