ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์หลังจากที่เฟดเผยบันทึกการประชุมซึ่งเผยว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือน มิ.ย. นี้ หนุนให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากขึ้น
นักวิเคราะห์จาก Canadian Imperial Bank of Commerce ระบุว่า ในขณะนี้ควรที่จะเข้าไปถือครองค่าเงินดอลลาร์มากขึ้น เนื่องจากบันทึกการประชุมเฟด บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน หรือถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็จะส่งสัญญาณว่าจะขึ้นในเดือน ก.ค.
ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากขึ้น
ดัชนี Bloomberg Dollar Spot Index ซึ่งติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์กับสกุลเงินหลักอีก 10 สกุล แข็งค่าขึ้น 0.8% เมื่อวานนี้ ทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา
Fed Fund Futures ให้ความน่าจะเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นจาก 15% ในวันอังคาร สู่ระดับ 34% เมื่อวานนี้ และให้ความน่าจะเป็นว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งภายในเดือน ธ.ค. ไว้ที่ 40.2%เพิ่มขึ้นจากระดับ 28.8% ในวันอังคาร
นักวิเคราะห์จาก Silicon Valley Bank ระบุว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสมาชิกเฟดได้ระบุถึงความเป็นไปได้ว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. มากขึ้น โดยคาดว่าสมาชิกเฟดต้องการสร้างบรรยากาศในการขึ้นดอกเบี้ยให้มากขึ้น เพื่อที่เฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วมากขึ้น
มูดี้ส์ คาดการณ์ เฟดขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างมาก 2 ครั้ง ขณะที่เศรษฐกิจจีนโต 6.3%, สหรัฐฯโต 2% และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โต 4.2% ในปีนี้
มูดี้ส์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้จากระดับ 2.3% สู่ระดับ 2.0% เนื่องจากจีดีพีไตรมาส 1/2016 ที่อ่อนแอ ขณะที่ไตรมาสที่เหลือไปจนถึงปี 2017 น่าจะฟื้นตัวได้
มูดี้ส์ คาดเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างมากที่สุดก็ 2 ครั้งในปีนี้ และจะชี้นำตลาดก่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยพอสมควร เพื่อให้ตลาดสามารถปรับตัวได้ทันและลดผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ได้มากที่สุด
มูดี้ส์ (Moody’s) ระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องเผชิญกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ และความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่อ่อนแอ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้จะเติบโตได้ 4.2% จาก 4.4% ในปี 2015
ขณะที่เศรษฐกิจจีนในปีนี้ได้รับแรงหนุนจากการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาวให้แก่เศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะระบบธนาคาร นอกจากนี้จีนยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากความอ่อนแอของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยมูดี้ส์คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจีนจะเติบโต 6.3% จาก 6.9% ในปีที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดิบหดตัวลงในวันนี้ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น โดยน้ำมันดิบ WTIปรับตัวลดลง 1.47% สู่ระดับ 47.48 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวลดลง 1.74% สู่ระดับ 48.08 เหรียญ/บาร์เรล
ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะหลัง เนื่องจากความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาดได้เจือจางลงไป อย่างไรก็ดีบันทึกการประชุมเฟดที่ระบุถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ได้หนุนค่าเงินดอลลาร์ และกดดันราคาน้ำมันดิบลง
นอกจากแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากการเทขายทำกำไรของนักลงทุนหลังจากที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา