ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 2 วันทำการ โดยดัชนีดาวโจนส์ปิด +0.82% ที่ระดับ 17,851.51 จุด ขณะที่ดัชนีS&P500 ปิด +0.7% ที่ระดับ 2,090.54 จุด เพราะตลาดได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และกลุ่มนักลงทุนที่ผ่อนคลายต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่อาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในเดือนหน้านี้
ขณะที่ช่วง 2 วันทำการนี้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า 2% ซึ่งเป็นระดับการฟื้นตัวราย 2 วันที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม และปรับตัวขึ้นประมาณ 15% จากระดับต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ภาพรวมปีนี้ปรับขึ้นได้ 2%
รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ตลาดหุ้นเอเชียมีแนวโน้มจะขยายตัวได้จากระดับต่ำสุดในรอบ 12 สัปดาห์ ขานรับการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบที่ใกล้แตะระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรล ที่ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น และการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรป หลังทราบการตัดสินใจของกลุ่มรัฐมนตรีการคลังยูโรโซนในการปลดล็อกเงินช่วยเหลือครั้งใหม่แก่กรีซและการผ่อนปรนหนี้สินแก่กรีซ
ด้านหุ้นกลุ่มพลังงานฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังรัฐบาลสหรัฐฯเผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ปรับตัวลดลงเกินคาดอย่างมาก
รายงานจาก CNBC ระบุว่า ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มพลังงานที่ได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้น จึงหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นตาม จึงส่งผลให้เช้านี้ดัชนีนิกเกอิเปิด +0.75%
กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือนเม.ย.59 พลิกกลับมาหดตัว 8.0% มาที่ 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้า เม.ย. มีมูลค่า 14,824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 14.92% ดุลการค้าเม.ย. เกินดุล 721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
รมช.พาณิชย์ กล่าวยอมรับว่า การส่งออกในปีนี้คงไม่ได้เห็นการขยายตัวที่ 5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยังเชื่อว่ามีโอกาสจะโตได้ 2-3% ซึ่งถ้าจะให้เป็นไปตามนี้ มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี (พ.ค.-ธ.ค.59) จะต้องทำได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าเป็นห่วงสถานการณ์ส่งออกของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ไม่อยากให้คิดว่าตัวเลขส่งออกปีนี้จะโตได้ 5% หรือกี่เปอร์เซนต์ หรือจะโตติดลบ เพราะส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังทรุดอยู่ แต่เราสามารถประคองตัวไม่ให้ทรุดตามไปจะมีประโยชน์มากกว่า