ในวันนี้ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนตัวในกรอบ หลังจากปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบสองเดือน โดยนักลงทุนกำลังรอสัญญาณใหม่ๆในการขึ้นดอกเบี้ยจากประธานเฟด
วันนี้ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวสูงขึ้น 0.09% สู่ระดับ 95.25 จุด
ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 2.3% เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุด โดยได้รับแรงหนุนจากเฟดที่ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น
นักวิเคราะห์จาก Nordea Bank ไม่มั่นใจว่าการที่ถ้อยแถลงของสมาชิกเฟด มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากอะไร นี่เป็นแผนการของเฟดหรือเป็นความเห็นของสมาชิกเฟดแต่ละคนจริงๆ อย่างไรก็ดี วันนี้เป็นโอกาสของประธานเฟด หากเธอต้องการจะส่งสัญญาณใดๆก็ตาม
เฟดสาขาแอตแลนต้า เพิ่มประมาณการณ์ GDP สหรัฐฯ
เฟดสาขาแอตแลนต้า เพิ่มการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 2/2016 นี้ สู่ระดับ 2.9% เมื่อวานนี้ จากระดับ 2.5% โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการลงทุนภาคเอกชนซึ่งคาดว่าจะสูงขึ้น 0.4% จาก 0.3% ในประมาณการณ์เดิม
ทั้งนี้เฟดสาขาแอนแลนต้าได้เพิ่มประมาณการณ์ GDP สหรัฐฯในไตรมาสที่ 2/2016 ขึ้นมาเรื่อยๆ จากครั้งแรกที่ประกาศเมื่อ 29 เม.ย. ณ ระดับ 1.8% สู่ระดับ 2.9% ในปัจจุบัน
กระทรวงการคลังจีน ระบุ รัฐบาลจีนสามารถกู้เงินเพื่อลดระดับหนี้สินของภาคเอกชนได้
กระทรวงการคลังจีน ระบุว่า จีนจะเพิ่มการกู้ยืมของรัฐบาลขึ้นอีก เนื่องจากระดับหนี้สินภาครัฐของจีนต่ำกว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ
โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินของรัฐบาลจีนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ราว 41.5% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าระดับ 60% ของสหภาพยุโรป (EU) และต่ำกว่าประเทศอื่นๆของโลก อาทิ ญี่ปุ่น (200%) สหรัฐฯ (120%) บราซิล(100%) เยอรมัน(80%)
กระทรวงการคลังจีนระบุ “เพื่อลดระดับหนี้สินของภาคเอกชน (Leverage) รัฐบาลสามารถเพิ่มระดับการกู้ยืมเงินของรัฐบาลเพื่อลดระดับการกู้ยืมของภาคเอกชนได้”
ทางการจีนเริ่มเพิ่มระดับหนี้ของตนแล้ว โดยในปีนี้จีนใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลถึงระดับ 3% ของ GDP มากที่สุดในประวัติศาสตร์
นายกฯญี่ปุ่นเผยผู้นำ G7 กังวลเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะวิกฤต
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผู้นำกลุ่ม G7 ตกลงที่จะใช้ทั้งนโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายเชิงโครงสร้าง เนื่องจากบรรดาผู้นำต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤต
"เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะวิกฤต หากเราตอบสนองเรื่องนี้อย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงตกลงที่จะส่งเสริมนโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายเชิงโครงสร้างร่วมกัน" นายอาเบะกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังจากการประชุมผู้นำ G7 เสร็จสิ้นลงในวันนี้
น้ำมันดิบปรับตัวลดลงในวันนี้
ในวันนี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะแนวต้านระดับ 50เหรียญ/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสูงขึ้นตามไปด้วย และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า
ในวันนี้ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลดลง 0.7% สู่ที่ระดับ 49.25 เหรียญต่อบาล์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 0.6% สู่ระดับ 49.17 เหรียญ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จาก Reuters ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรล ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆได้แก่ 1.ไฟไหม้ป่าในแคนาดา 2.เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียและแอฟริกาตะวันตก ส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบลดลงไป 4 ล้านบาร์เรล/วัน
นักวิเคราะห์ความเสี่ยงน้ำมันจาก Mitsubishi Corporation ระบุว่า Shale Oil จะเป็นความเสี่ยงใหม่แก่ตลาดน้ำมันดิบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ระดับ 48-50 เหรียญ/บาร์เรล หากราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูง จะทำให้ผู้ผลิตกลับเข้ามาผลิต Shale Oil อีกครั้ง