ข้อมูลการจ้างงานนอกจากการเกษตรในวันนี้จะถูกผลกระทบจากประท้วงหยุดงานของพนักงานบริษัท Verizon ซึ่งจะทำให้รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ลดลง 35,100 ตำแหน่ง ทั้งนี้ข้อมูลการจ้างงานโดย ADP ที่ประกาศออกมาเมื่อวานนี้นั้น ไม่ถูกกระทบโดยการประท้วงหยุดงานดังกล่าว
ทั้งนี้พนักงานของ Verizon ได้กลับมาเริ่มทำงานอีกครั้งในวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างหยุดงานถูกนับเป็นผู้ว่างงานเนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงเวลาดังกล่าว
ผลการสำรวจโดย Reuters ตลาดคาดการณ์ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ออกมาที่ระดับ 162,000 ตำแหน่ง(เดิม 160,000 ตำแหน่ง) ขณะที่อัตรางานว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.9% (เดิม 5.0%)
นักวิเคราะห์จาก PNC Financial ระบุว่า เหตุการณ์ของบริษัท Verizon นั้นกระทบต่อตัวเลขของเดือน พ.ค. ที่จะประกาศในวันนี้ แต่คาดว่าตลาดแรงงานจะกลับสู่มาเติบโตได้อีกครั้งในเดือน มิ.ย.
นักวิเคราะห์ฯ กล่าวว่า การเติบโตของตลาดแรงงานในสหรัฐฯปัจจุบันนั้นเติบโตมากกว่าการเติบโตของจำนวนแรงงาน ดังนั้นจึงชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน
เศรษฐกิจสหรัฐฯต้องการตำแหน่งงาน 100,000 ตำแหน่งในทุกๆเดือน เพื่อให้มีงานรองรับกำลังแรงงานใหม่ๆ
นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics ระบุว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐฯนั้นมีเสถียรภาพ ซึ่งจะหนุนให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในเร็วๆนี้
OECD ระบุ เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในกับดัก “การเติบโตต่ำ”
รายงาน Global Economic Outlook ฉบับล่าสุดจาก OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ระบุว่า OECD ได้ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง 0.3% จากรายงานเดิมเมื่อ พ.ย. 2015 โดยในปี 2016 และปี 2017 OECF คาดเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 3% และ 3.3% ตามลำดับ
เนื่องจาก การค้า, การลงทุน และค่าจ้างแรงงาน ที่ชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนแอ
OECD ระบุว่า เศรษฐกิจโลกนั้นตกอยู่ในกับดัก “การเติบโตต่ำ” (low-growth trap) พร้อมแนะนำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศควรใช้นโยบายการคลัง(การใช้จ่ายของภาครัฐ) และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อหนุนการเติบโต แทนที่จะพึ่งพาการใช้นโยบายทางการเงินซึ่งออกโดยธนาคารกลางเพียงอย่างเดียว
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก OECD ระบุว่า นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือหลัก เครื่องมือเดียว ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมานานเกินไป
ขณะที่ OECD คาดการณ์ เศรษฐกิจสหรัฐฯว่าจะสามารถเติบโตได้ 1.8% ในปีนี้ ลดลงจากรายงานเมื่อเดือน พ.ย. 2015 ที่ระดับ 2.5%และลดลงจากรายงานขั้นกลางเมื่อเดือน ก.พ. ที่ระดับ 2.0%
และคาดการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นไว้ที่ 1.6% และ 0.7% ตามลำดับ
นอกจากนี้ OECD ยังได้กล่าวถึงการที่อังกฤษอาจออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ว่าจะเป็นฉนวนให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
นายแดเนียล ทารูลโล เจ้าหน้าที่เฟด(มีสิทธิออกเสียงขึ้นดอกเบี้ย) ระบุ เฟดควรรอบคอบในการขึ้นดอกเบี้ย, Brexit อาจกระทบตลาดเงิน-นโยบายเฟด
นายแดเนียล ทารูลโล เจ้าหน้าที่เฟด(มีสิทธิออกเสียงขึ้นดอกเบี้ย) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวานนี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางรายที่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ต่างก็ต้องการให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น "เพื่อเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับเงินเฟ้อในอนาคต"
ขณะที่ตัวนายทารูลโลนั้นไม่ได้รีบร้อนในเรื่องนี้ และเฟดควรมีความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐยังมีโอกาสเติบโตได้อีก
ขณะที่กล่าวถึงแนวโน้มที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit นั้น จะกลายเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่ง โดยเฟดอาจจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ อังกฤษเตรียมจัดลงประชามติว่า จะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในวันนี้
ในวันนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI +0.10% สู่ระดับ 49.22 เหรียญ/บาร์เรล, น้ำมันดิบ BRENT +0.24%% สู่ระดับ 50.17 เหรียญ/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในวันนี้ แม้มีแรงกดดันจากการประชุม OPEC ที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ แต่ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลง
โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดได้คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่ากลุ่ม OPEC จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบมากนัก
วานนี้สหรัฐฯเผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล