ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ หลังจากทราบข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่น่าผิดหวังของสหรัฐฯ จึงทำให้นักลงทุนลดมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยในคืนวันศุกร์ดัชนีดอลลาร์ร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 93.855 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 12 พฤษภาคม หรือร่วงลงกว่า 1.6% ซึ่งเป็นระดับการร่วงลงรายวันที่มากทีสุดเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ขณะที่เช้านี้ดัชนีดอลลาร์รีบาวน์ขึ้นมาเล็กน้อยบริเวณ 94.13
ด้านค่าเงินเยนแข็งค่าลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือนบริเวณ 106.35 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่เช้านี้ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยบริเวณ 106.73 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์บริเวณ 1.1375 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนจะปรับตัวลงในเช้าวันนี้บริเวณ 1.1348 ดอลลาร์/ยูโร
รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯประจำเดือนพฤษภาคมขยายตัวต่ำกว่าคาดในรอบกว่า 5 ปีครึ่ง ท่ามกลางการชะลอตัวของภาคการผลิตและการก่อสร้าง ซึ่งอาจเป็นการยากลำบากต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
การจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่งในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวน้อยที่สุดนับตั้งแต่กันยายนปี 2010 ขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯปรับตัวลงแตะระดับ 4.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่พฤศจิกายนปี 2007
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ระบุว่า ข้อมูลการจ้างงานดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการประท้วงของพนักงานบริษัทVerizon Communications Inc. ซึ่งการร่วงลงอย่างหนักของข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 2.5% ขณะที่กลุ่มนักลงทุนไม่คาดหวังว่าเฟดจะทำการขึ้นดอกเบี้ยได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ผลสำรวจ FedWatch ของ CME Group ระบุว่า ข้อมูลการจ้างงานที่อ่อนแอส่งผลให้ผลสำรวจโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนลดลงจากระดับ 21% เหลือเพียง 4% เท่านั้น ขณะที่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนั้น ก็ปรับตัวลงแตะ 34%
นางลอเร็ตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาเคฟแลนด์ ยังเชื่อว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้าน นางลาเอล เบรนาร์ด ผู้ว่าการฝ่ายปกครองของเฟด เรียกร้องให้เฟดรอข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมกว่านี้ก่อนที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากข้อมูลแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว และอาจส่งผลกับภาวการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2
น้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่า 1% ในคืนวันศุกร์ จากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯที่สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยน้ำมันดิบ WTI ปิด -1.1% แตะระดับ 48.62 เหรียญ/บาร์เรล ด้านน้ำมันดิบ Brent ปิด -0.6% ที่ระดับ 49.74 เหรียญ/บาร์เรล