นักลงทุนกำลังจับตามองไปยังถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดในค่ำคืนนี้หลังจากที่ข้อมูลภาคแรงงานออกมาแย่กว่าคาด โดยนักลงทุนจับตาว่าประธานเฟดที่เคยกล่าวว่า “จะขึ้นดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” จะเปลี่ยนแปลงคำพูดของตนหรือไม่
ทั้งนี้ประธานเฟดจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เวลา 23.30น. ตามเวลาประเทศไทย
ปธ.เฟดบอสตันคาดเฟดยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย แม้จ้างงานสหรัฐน่าผิดหวัง
นายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน เปิดเผยว่า เขายังคงคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเปิดทางให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แม้ว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนพ.ค.ออกมาน่าผิดหวังก็ตาม
นายโรเซนเกรน ระบุว่า การที่ตัวเลขการจ้างงานออกมาน่าผิดหวัง พร้อมๆกับการที่ยอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งนั้นเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามว่าข้อมูลการจ้างงานที่อ่อนแอดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติชั่วครั้งชั่วคราว หรือ เป็นการแสดงให้เห็นถึงตลาดแรงงานที่กำลังอ่อนแอลงจริงๆ
ประธานเฟดสาขาบอสตันเปิดเผยว่า เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะส่งผลให้เฟดปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ
การจ้างงานสหรัฐฯออกมาน่าผิดหวัง แต่อัตราว่างงานที่ลดลงสู่ระดับ 4.7% นั้นเกิดจากการที่ประชาชนออกจากตลาดแรงงาน
นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯออกมาน่าผิดหวังที่ระดับ 38,000 ตำแหน่ง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากการที่พนักงานบริษัท Verizon หยุดงานประท้วงกว่า 35,000 คน ส่งผลให้การจ้างงานในภาคสารสนเทศ(Information)ลดลงมากก็ตาม
โดยนอกจากภาคสารสนเทศแล้ว การจ้างงานในภาคธุรกิจอื่นๆเองก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน อาทิ การผลิตและการก่อสร้าง สอดคล้องกับดัชนีการจ้างงานภาคการผลิต (ISM manufacturing employment index) นอกจากนี้การจ้างงานชั่วคราว(Temporary Employment)ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำการจ้างงานโดยรวม เองก็ปรับตัวลดลง 21,000 ตำแหน่ง
การที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.7% เกิดจากการที่อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) หดตัวลงติดต่อกัน 2 เดือน สู่ระดับ 62.6% (เดิม 62.8%) จากเดิมที่เคยปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. 2015 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ายังมีแรงงานอีกมากเพียงใดที่ไม่ยอมกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานแม้จะผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมานานแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ในปลายปี 2006 สหรัฐฯเคยมีอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานที่ระดับ 66.4% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 62.6%
อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) คือ สัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรวัยทำงานทั้งหมด
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุวินาศกรรมในไนจีเรีย และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากเหตุวินาศกรรมในไนจีเรีย และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า อย่างไรก็ตามข้อมูลจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก
น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวสูงขึ้น 1.13% สู่ระดับ 50.20 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 1.17% สู่ระดับ 49.19 เหรียญ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุ ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงช่วยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่เทรดเดอร์บางส่วน ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์โจมตีพื้นที่ผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย ได้ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี
อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันดิบในตะวันออกกลางยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อิหร่าน ซึ่งเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของตนมาโดยตลอดหลังจากมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกไป
บริษัทผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ได้เพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับ 325 แท่น (ในปีก่อนมีแท่นขุดเจาะ 642 แท่น) โดยเหล่าผู้ผลิตยังคงเพิ่มแท่นขุดเจาะอย่างระมัดระวังตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น