ความเห็นของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในด้านต่างๆ
ตลาดแรงงาน
- แม้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในคืนวันศุกร์จะออกมาไม่ดีนัก แต่ประธานเฟด ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานอื่นๆยังคงแข็งแกร่ง อาทิ ยอดขอรับสวัสดิการว่างงาน ซึ่งเฟดจะศึกษาต่อไปว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ออกมาลดลงอย่างมากนั้นเกิดจากปัจจัยชั่วคราวหรือเป็นสัญญาณว่าตลาดแรงงานกำลังจะมีปัญหากันแน่
ความต้องการภายในประเทศ
- เศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตจากความต้องการภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคของประชาชนภายในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ประธานเฟด แสดงความกังวลว่าอุปสงค์ภายในประเทศของสหรัฐฯจะสามารถแข็งแกร่งอยู่ได้หรือไม่ เมื่อต้องเผชิญกับ
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาคเอกชนของบริษัทสหรัฐฯที่ชะลอตัวลง โดยตัวประธานเฟดคาดว่าจะชะลอตัวลงเพียงชั่วคราว
แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก
- ประธานเฟดกังวลต่อการปฏิรูปของเศรษฐกิจจีนจากเดิมที่พึ่งพิงการส่งออก เปลี่ยนมาเป็นพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศ
- นอกจากนี้ยังกังวลอย่างมากต่อการทำประชามติของอังกฤษ ว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งหากออกจะมีผลกระทบอย่างยิ่ง
- ประธานเฟด ระบุว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว, อัตราเงินเฟ้อต่ำและใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างยิ่งยวด ส่งผลให้ มุมมองของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ผลิตภาพที่อ่อนแอ (Weak Productivity)
- ประธานเฟด ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ต่างถกเถียงกันว่าเมื่อไรผลิตภาพที่ชะลอตัวลงจะสิ้นสุดเสียที ซึ่งประธานเฟดได้กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ได้ทำให้บริษัทต่างๆปรับลดงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาลง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพ ดังนั้นหากงบประมาณดังกล่าวฟื้นตัวกลับมาเมื่อไร เมื่อนั้นผลิตภาพจะกลับมาดีขึ้น
อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป (TOO-LOW INFLATION)
- ราคาน้ำมันดิบที่ไม่ร่วงลงต่อและค่าเงินดอลลาร์ที่ไม่แข็งค่าขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีของอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อของเฟดยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายมายาวนานกว่า 4 ปี
- ประธานเฟด ระบุว่า มีความกังวลอย่างหนึ่งคือผลการสำรวจซึ่งระบุว่าผู้บริโภคและภาคธุรกิจคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวลดลงจากเดิม ซึ่งหากยังลดลงต่อไป ก็คงยากที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นจนถึงเป้าหมายของเฟดได้
- ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ จะเป็นปัจจัยกดดันการใช้จ่าย ส่งผลให้การเติบโตลดลง
ที่มา: AP