World Bank ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.5% จากรายงานเดิมเมื่อเดือน ม.ค. สู่ระดับ 2.4% ในรายงานเดือน มิ.ย. โดยนักเศรษฐศาสตร์ประจำ World Bank ระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ และการเติบโตก็ชะลอตัว
สาเหตุในการปรับลดเกิดจาก การชะลอตัวของประเทศพัฒนาแล้ว, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำยาวนาน, การค้าระหว่างประเทศที่อ่อนตัว และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ลดน้อยลง
World Bank ระบุ การคาดการณ์ดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงขาลงต่างๆ อาทิ การชะลอตัวในประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญและความไม่แน่นอนของการเมืองและนโยบายระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ World Bank นั้น มีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่า IMF ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโต 3.2% ในรายงานเดือน เม.ย.
อย่างไรก็ตาม World Bank ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ค่อยๆฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 3% เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศที่อ่อนแอ
ธนาคารกลางจีนคงคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ 6.8% ขณะคาดเงินเฟ้อขยายตัว 2.4%
ธนาคารกลางจีนประกาศคงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ระดับ 6.8% ในปีนี้ พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ จะขยายตัว 2.4% ตลอดปี 2559 และคาดว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในปีนี้จะขยายตัว 11.0% จาก 10.8%
รายงานของธนาคารกลางจีนซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า แม้เศรษฐกิจจีนได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวที่รวดเร็วของการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค แต่ปัจจัยบวกดังกล่าวก็ถูกสกัดด้วยผลกระทบในด้านลบจากการขยายตัวที่ช้าลงของยอดเกินดุลการค้า
การคาดการณ์ของธนาคารกลางจีนที่ 6.8% สูงกว่าที่ World Bank คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 6.7%
ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 1/2016 เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ที่ระดับ 6.7% ต่ำที่สุดในรอบกว่า 7 ปี
การส่งออกนำเข้าจีนหดตัวลงในสกุลดอลลาร์ แต่ปรับตัวสูงขึ้นในสกุลหยวน
ในสกุลดอลลาร์ เมื่อเทียบรายปี การส่งออกจีนหดตัวลง -4.1% (เดิม -1.8%, คาดการณ์ -3.6%) ขณะที่การนำเข้าหดตัวลง -0.4% (เดิม -10.9%, คาดการณ์ 6%)
อย่างไรก็ตามในสกุลหยวน การส่งออกจีนกลับมาเป็น +1.2% และการนำเข้า +5.1%
นักเศรษฐศาสตร์ Capital Economics ระบุว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอจากต่างประเทศโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป เป็นสาเหตุที่ทำให้การส่งออกหดตัวลง ขณะที่การนำเข้าที่ดีกว่าที่คาดการณ์ เกิดจากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ช่วยหนุนมูลค่าการนำเข้า
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก TAC Economics ระบุว่า จีนนั้นได้สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลกมาซักพักหนึ่งแล้ว โดยหากการค้าโลกไม่เติบโตเลย การค้าของจีนจะหดตัวลง 4% ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากค่าเงินของคู่แข่งของจีนได้หดตัวลดลง 20%-25% นับตั้งแต่ปี 2013 ขณะที่ค่าเงินหยวนนั้นค่อนข้างมีเสถียรภาพ จนกระทั้งเดือน ก.ค. 2015
ราคาน้ำมันดิบยืนเหนือระดับ 50 เหรียญ จากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ลดลง
ราคาน้ำมันดิบวันนี้ยืนเหนือระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรล ได้ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบจากไนจีเรียที่ลดลง รวมถึงสต็อกน้ำมันและการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯที่หดตัวลง
ราคาน้ำมันดิบ WTI วันนี้ปรับตัวสูงขึ้น 0.10% สู่ระดับ 50.42 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวสูงขึ้น 0.16% สู่ระดับ 51.52 เหรียญ/บาร์เรล
การปรับตัวสูงขึ้นส่วนมากถูกหนุนโดยการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียที่ลดลงจากการถูกโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธ Niger Delta Avengersทั้งนี้จากการโจมตีของกลุ่มฯ ได้ทำให้การผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียลดลงสู่ระดับ 1.69 ล้านบาร์เรล/วัน จากเดิมราว 2 ล้านบาร์เรล/วัน
ทางการสหรัฐฯระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลงราว 2.5 แสนบาร์เรล/วัน ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. นับเป็นการปรับตัวลดลงในรายเดือนมากที่สุดในรอบหลายปี
เมื่อวานนี้ตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯโดย API ได้ปรับตัวลดลงไป 3.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่นักลงทุนคาดว่าตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯโดยทางการสหรัฐฯในวันนี้จะปรับตัวลดลง 3.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา