จีนเผยข้อมูลเดือน พ.ค. CPI แย่กว่าคาด, PPI ดีกว่าคาด
ในวันนี้จีนเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน พ.ค. ซึ่งออกมาสูงขึ้น 2.0% (เดิม 2.3%, คาดการณ์ 2.3%) น้อยกว่าที่คาด ซึ่งถูกกดดันโดยราคาอาหารที่ชะลอตัวลง
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือน พ.ต. ออกมาที่ระดับ -2.8% (เดิม -3.4%, คาดการณ์ 3.3%) ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ แต่ยังคงอยู่ในแดนลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 51 เดือน
นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Commonwealth Bank ระบุว่า ปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง CPI ที่ตกต่ำลงของจีนคือ ราคาอาหารที่ลดลง โดยคาดว่า CPI ตลอดทั้งปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.5-2%
นักเศรษฐศาสตร์ฯ กล่าว ทุกๆ 10% ของราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น จะผลักดันให้ PPI ปรับตัวสูงขึ้นราว 6% ดังนั้นการฟื้นตัวของ PPIในเดือนพฤษภาคม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอ ทางการจีนควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Commerzbank ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของจีนโดยภาพรวมยังคงอ่อนแอ ดังนั้นธนาคารกลางจีนอาจต้องยกระดับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ทางการจีนไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ท่ามกลางปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งหากจีนยังใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ยอมออกจากตลาด และภาวะอุปทานส่วนเกินจะยังคงอยู่ ส่งผลให้ราคาสินค้าไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังธนาคารกลางจีนให้ไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ดังนั้นนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนจึงมีความสำคัญ
นักวิเคราะห์จาก ING ระบุว่า ธนาคารกลางจีนควรลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในปีนี้
รองผู้ว่าการบีโอเจ ระบุ จะขยายมาตรการทางการเงินอย่างไม่ลังเลหากจำเป็น
นาย Hiroshi Nakaso รองผู้ว่าการบีโอเจ ระบุในวันนี้ว่า นโยบายการเงินที่เด็ดขาดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการขจัดภาวะเงินฝืด และตัวเขาจะดำเนินการอย่างไม่ลังเลในการขยายมาตรการทางการเงินหากจำเป็น
“การใช้นโยบายการเงินอย่างเด็ดขาด มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตได้อย่างมั่นคง” นายHiroshi กล่าว
ทั้งนี้บีโอเจจะมีการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 15 – 16 มิ.ย. นี้
ประธานอีซีบี ระบุ ระบบเศรษฐกิจของยูโรโซนต้องได้รับการปฏิรูปก่อนจะสายเกินไป
ในช่วงหลายปีมานี้การเติบโตที่อ่อนแอ ได้กัดกร่อนประสิทธิภาพในการผลิตของยูโรโซน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างถาวร พร้อมระบุว่า นโยบายทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเยียวยาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้
“มีเหตุผลทางการเมืองมากมายที่ทำให้เราชะลอการปฏิรูปเศรษฐกิจออกไป” นายมาริโอ้ ดรากี้ ประธานอีซีบี กล่าว “แต่การทำเช่นนั้นส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนของการชะลอการปฏิรูปนั้นแพงเกินไป”
ประธานอีซีบี ระบุเพิ่มว่า “ในสภาวะที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายนานเกินไป ระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างถาวร”
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดรอบ 6 สัปดาห์
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงติดต่อกัน 4 วันทำการเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ และเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ เนื่องจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลง ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ ได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
ค่าเงินดอลลาร์ค่าอ่อนลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยในวันนี้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก 0.05% สู่ระดับ 93.55 จุด ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาแล้วกว่า 2.08% จากระดับ 95.56 จุด ในคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สู่ระดับ 93.55 จุด ในวันนี้
ดัชนี MSCI world equity (ซึ่งติดตามดัชนีหุ้นทั่วโลกกว่า 45 ประเทศ) ปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 5 วันทำการ โดยเมื่อวานนี้ปรับตัวสูงขึ้น 0.31% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นและมุมมองของประธานเฟดที่ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง
หัวหน้านักกลยุทธ์จาก Key Private Bank ระบุว่า มุมมองที่ดีกำลังสร้างโมเมนตั้มในตลาดหุ้น ถึงแม้ว่าตัวเลขการจ้างงานจะออกมาน่าผิดหวัง แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังคงดีอยู่และสามารถหนุนให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อไปได้
ราคาน้ำมันดิบทำจุดสูงสุดใหม่ในวันนี้
ในวันนี้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดในปี 2016 โดยได้รับแรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลง, ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และอุปสงค์น้ำมันดิบที่แข็งแกร่ง
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดที่ระดับ 52.86 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ทำจุดสูงสุดที่ระดับ 51.67 เหรียญ/บาร์เรล
นักลงทุนในตลาด ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการลดลงของสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ