นาย Jens Weidmann ประธานธนาคารกลางเยอรมัน ระบุในวันนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำของอีซีบีอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่ ราคาของส่วนชดเชยความเสี่ยง(Risk Premium) เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน และผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาถึงผลกระทบจากความไม่สมดุลดังกล่าว
นาย Weidmann กล่าว “นักลงทุนจะมีความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยระดับต่ำในระยะยาว ซึ่งจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ราคาของRisk Premium เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน”
ทั้งนี้อีซีบี ได้ลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบมานานหลายปีแล้ว โดยนโยบายดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ลง และเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยง
จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยงจะแตก สุดท้ายแล้ว จุดจบของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างยิ่งยวดอาจกลับส่งผลในทางตรงกันข้าม
ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในวันนี้ ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน
ในวันนี้ Dollar Index ปรับตัวสูงขึ้น 0.27% สู่ระดับ 94.20 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือน เนื่องจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งเมื่อวานนี้
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Commerzbank มีแผนที่จะเก็บเงินยูโรกว่าพันล้านยูโรไว้ในตู้เซฟแทนที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับอีซีบี
BlackRock บริษัทจัดการกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า ตลาดการเงินกำลังประเมินความเสี่ยงที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปไว้ต่ำเกินไป
IMF ระบุ ประเทศในกลุ่ม GCC (คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ) ต้องลดการใช้จ่ายลงจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ
IMF ระบุว่า จากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำลง กลุ่ม GCC ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันดิบ ต้องลดการใช้จ่ายลงและเพิ่มรายได้ที่ไม่ได้มากจากน้ำมันให้มากยิ่งขึ้น
สถานะทางการคลังของกลุ่ม GCC จากเดิมที่เกินดุลพลิกกลับมาขาดดุล เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงกว่า 75% จากเดือน มิ.ย. 2014 จนถึงเดือน ม.ค. ในปีนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง
IMF คาดการณ์ว่าหนี้สินต่อจีดีพีของกลุ่ม GCC จะเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปีที่ผ่านมาสู่ระดับ 45% ในปี 2021 เนื่องจากรัฐบาลต้องกู้เงินมาเพื่ออุดสถานะทางการคลังที่ขาดดุล
แต่ทั้งนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากของคูเวต, กาตาร์ และ UAE สามารถชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ โดย IMF คาดว่าประเทศดังกล่าวมีกันชนจากทุนสำรองระหว่างประเทศมากพอที่จะอยู่ได้อีก 20-30 ปี
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในวันนี้ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในวันนี้ จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สดใส
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงในวันนี้ 1.09% สู่ระดับ 50.01 เหรียญ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จาก IG Markets ระบุว่า หากมุมมองเชิงต่อตลาดน้ำมันดิบ ทั้งอุปทานที่ลดลง และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ยังดำเนินต่อไปอีก 2 เดือน คาดว่าการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์จะไม่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบมากนัก
Petrie Partners ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบน่าจะจำเป็นต้องปรับตัวสูงขึ้นและทรงตัวอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะเริ่มกลับมาลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วกว่า 98% จากระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 26.05 เหรียญ/บาร์เรล สู่ระดับสูงสุดในรอบ10เดือนครึ่งที่ระดับ 51.67 เหรียญ/บาร์เรล เมื่อวานนี้
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในระยะหลังส่งผลให้เกิดความกังวลว่า ผู้ผลิตน้ำมันดิบจะผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบลดลง
รายงานจากทางการสหรัฐฯ ระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา