ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เฝ้าจับตาดูความเสี่ยงจากการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ และความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะออกจากอียูในการลงประชามติสัปดาห์หน้า โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ยังคงปรับตัวขึ้นแตะระดับ 94.65 ขณะที่ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะ 1.1242 ดอลลาร์/ยูโรในเช้านี้
ค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2013 เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน จากความวิตกกังวลต่อผลการลงประชามติของอังกฤษในช่วงปลายเดือนนี้ว่าจะอังกฤษจะเลือกออกจากอียูหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาอาจสร้างความปั่นป่วนต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรป โดยค่าเงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 151.50 เยน/ปอนด์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สิงหาคมปี 2013 ขณะที่ค่าเงินยูโรร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เมษายน 2013 บริเวณ 119.87 เยน/ดอลลาร์
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างเข้าถือครอง Safe Haven เพิ่มมากขึ้น โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.011% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.627% ต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.
นอกจากพันธบัตรรัฐบาลต่างๆแล้ว ค่าเงินเยนและค่าเงินสวิสฟรังก์ ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเองก็แข็งค่าขึ้นและทรงตัวอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน
โดยค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาแล้วกว่า 3.35% จากระดับ 110.71 เยน/ดอลลาร์ ในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. สู่ระดับ 107.00 เยน/ดอลลาร์ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา สำหรับเช้านี้แข็งค่าต่อลงมาบริเวณ 106.16 เยน/ดอลลาร์
ขณะที่ค่าเงินสวิสฟรังก์ แข็งค่าขึ้นมาแล้วกว่า 2.75% จากระดับ 0.9936 ฟรังก์/ดอลลาร์ ในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. สู่ระดับ 0.9663 ฟรังก์/ดอลลาร์ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า "จอร์จ โซรอส" มหาเศรษฐีชื่อดังวัย 85 ปี เริ่มมีส่วนกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของโซรอสฟันด์ แมเนจเมนท์มากขึ้น เพราะมีความกังวล เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานครั้งใหญ่
โดยแหล่งข่าวใกล้ตัว นายโซรอส กล่าวว่า นายโซรอส ใช้เวลามากขึ้นที่จะดูแลพอร์ตการลงทุนด้วยตนเอง และทำคำสั่งซื้อขายเองโดยตรง ขณะที่ไตรมาสที่ผ่านมา โซรอสฟันด์ ได้ขายหุ้น และซื้อทองคำ รวมถึงหุ้นกลุ่ม เหมืองทองคำเข้าพอร์ต
ทั้งนี้ นายโซรอส มีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะต่อเศรษฐกิจจีน และเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เขาให้ความคิดเห็นว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งขยายตัวโดยอาศัยการก่อหนี้ จะเผชิญวิกฤตการเงินเช่นเดียวกับที่สหรัฐ เคยเผชิญในช่วงปี2550-2551 โดยระบุว่าเงินส่วนใหญ่ที่ธนาคารกลางจีนปล่อยสินเชื่อ ต้องใช้ในการต่อชีวิตให้กับวิสาหกิจที่ประสบผลขาดทุน
ขณะที่นายสแตน ดรัคเคนมิลเลอร์ อดีตนักกลยุทธ์การลงทุนที่เคยทำงานกับโซรอส ให้ความคิดเห็นไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า เข้าถือครองทองคำมากสุดในตอนนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบเชิงลบ
รายงานจาก Reuters ระบุว่า ตลาดค่าเงินของจีนเตรียมเปิดทำการซื้อขายค่าเงินหยวนในตลาดลอนดอนและตลาดนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามโปรโมทค่าเงินหยวนให้เป็นหนึ่งในสกุลเงินสากล โดย CFETS ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกลางจีน กล่าวว่าจะทำการขยายการเชื่อมโยงฝั่ง Offshore เพื่อให้รองรับกับสถาบันการเงินทั่วโลก และเพื่อให้กลายเป็น Platform หลักสำหรับการซื้อขายและการกำหนดราคากลางสำหรับค่าเงินหยวนในทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง หรือระยะเวลา 7 วันต่อสัปดาห์
ขณะเดียวกัน สำนักบลูมเบิร์กรายการด้วยว่า เวลส์ฟาร์โกแอนด์โค ระบุว่า นักลงทุนในภูมิภาคเอเชียหันลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐ มากขึ้น สะท้อนถึงภาวะกระทิงในตลาดตราสารหนี้สหรัฐ ขณะที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศมากที่สุดนับแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค.ปีนี้
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเกือบ 2% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนที่กังวลต่อจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า
ราคาน้ำมันดิบ BRENT ปรับตัวลดลง 1.7% สู่ระดับ 51.04 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 1.6% สู่ระดับ 49.74 เหรียญ/บาร์เรล
อย่างไรก็ดีภาพรวมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งน้ำมันดิบ WTI และ BRENT ยังคงสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้
รายงานจาก Baker Hughes ระบุว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น 9 แท่นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 325 แท่น
เมื่อวานนี้เกิดเหตุชายพกอาวุธปืนไรเฟิลสังหารผู้คนในบาร์เกย์กว่า 50 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 53 คนในเมืองออแลนโด รัฐฟลอริดา ขณะที่รายงานล่าสุดจากรอยเตอร์สระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารมือปืนดังกล่าวได้แล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม IS หรือไม่