ดัชนีดอลลาร์เมื่อคืนนี้ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 94.75 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่ปรับตัวลงมาเพราะได้รับแรงกดดันจากรายงานการจ้างงานเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่เช้านี้ดัชนีดอลลาร์อ่อนตัวลงมาบริเวณ 94.34 ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ชะลอการซื้อขายก่อนทราบผลประชุมเฟด
อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนเลือกเข้าถือครองเพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จึงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน เช้านี้อยู่ที่ระดับ 106.059 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่เมื่อวานปรับตัวลงไปทำแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมบริเวณ 105.735 เยน/ดอลลาร์
ค่าเงินยูโรเช้านี้ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยบริเวณ 1.1297 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1286 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินบาทเช้านี้กลับแข็งค่าลงมา 35.17 บาท/ดอลลาร์ จากระดับ 35.29 บาท/ดอลลาร์
น้ำมันดิบ WTI ปิด -0.42% ที่ระดับ 48.86 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบ Brent ปิด -0.44% ที่ระดับ 50.32 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงเมื่อคืนนี้หลังรายงานประจำเดือนของโอเปกยังคงคาดการณ์ระดับการขยายตัวของอุปทาน ท่ามกลางหลักฐานบ่งชี้ถึงการปรับตัวลงจากยอดนำเข้าน้ำมันดิบของจีนที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4เดือน
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบฟิวเจอร์สมีการปรับตัวมากขึ้นกว่า 85% นับตั้งแต่ที่ร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี บริเวณ 26.05 เหรียญ/บาร์เรล ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
รายงานจากกลุ่มโอเปก เมื่อวานนี้ยังคงคาดการณ์การขยายตัวของอุปทานน้ำมันดิบโลกปี 2016 ที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ที่ระดับ 94.18 ล้านบาร์เรล ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของอินเดีย ขณะที่ปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบของจีนลดลงสู่ระดับ 10.46 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับเฉลี่ยรายวันที่ร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนก็ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จึงส่งสัญญาณว่าภาวะอุปทานน้ำมันดิบอาจชะลอตัวไปอีกหลายเดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ โอเปกยังคงภาวะการขยายตัวของอุปสงค์ แต่มีการชะลอตัวลงเล็กน้อย 7.4 แสนบาร์เรล/วัน ที่ระดับ 56.40 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ ขณะที่ภาวะอุปทานของประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกทั้ง 13 แห่งจะยังอยู่ที่ระดับ 31.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงระดับเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานฉบับก่อนหน้า
ด้านภาพรวมการผลิตของกลุ่มโอเปกปรับตัวลง 1 แสนบาร์เรล/วัน แตะระดับ 32.361 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเป็นผลจากการประท้วงในไนจีเรียที่ทำให้กำลังการผลิตลดลง 2.31 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียมีการเพิ่มกำลังการผลิตเล็กน้อย 8.4 หมื่นบาร์เรล/วัน แตะระดับ 10.241 ล้านบาร์เรล/วัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันของจีนปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี ส่งสัญญาณว่า กลยุทธ์ของกลุ่มโอเปกเพื่อให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นยังคงทำงานได้ดีร่วมกับผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก
ทั้งนี้ จีนปรับลดกำลังการผลิตลงในเดือนพฤษภาคมประมาณ 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะระดับ 16.87 ล้านตัน ซึ่งรายงานจากรอยเตอร์สระบุว่า เป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2001
อย่างไรก็ดี กำลังการผลิตของจีนที่ปรับตัวลดลงอาจช่วยหนุนให้ตลาดน้ำมันเกิดสมดุลและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดปรับตัวขึ้นได้กว่า 75% จากระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปีที่ราคาลงไปในช่วงต้นปีนี้