ประชุมเฟด 14-15 มิถุนายน 2559
เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุดที่ระดับ 0.25-0.50% แต่ยังคงส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ และยังระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินของเฟดในอนาคต
ทั้งนี้ เฟดยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องจำนวนครั้งของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยสมาชิกเฟด 11 จาก 17 ราย ยังคงหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามแผน ขณะที่ 6 จาก 17 ราย คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีนี้เพียงครั้งเดียว
การอ่อนตัวของภาคการจ้างงานรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เฟดนำเข้าที่ประชุมในช่วง 2 วันที่ผ่านมาว่าตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งหรือไม่ ซึ่ง นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ต้องการเห็นความชัดเจนจากสัญญาณทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ก่อนตัดสินใจทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี เฟดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวได้ 2% ในปีนี้และปีหน้า โดยปรับลงเล็กน้อย 0.1% จากประมาณการณ์ก่อนหน้า
ด้านประธานเฟดยังไม่มีความชัดเจนว่าจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกรกฎาคมหรือไม่ ซึ่งเฟดอาจจำเป็นต้องรอข้อมูลยืนยันก่อนเข้าสู่การประชุมเดือนกันยายน
ประธานเฟด ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีสัญญาณการขยายตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือนเมษายน แต่ว่าตลาดแรงงานกลับสูญเสียสัญญาณบางส่วนไป ขณะที่ความเป็นได้ที่อังกฤษอาจออกจากอียู ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดนำมาพิจารณาต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุด เนื่องจากการลงประชามติในวันที่ 23มิ.ย.นี้ อาจส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสถานะการเงินในตลาดการเงินทั่วโลก
- Fed Economic Projections
- คาดการณ์ระยะกลางเฟดระดับอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 0.875% และยังคงคาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้จำนวน 2 ครั้งในปีนี้
- เฟดปรับลดคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวสู่ระดับ 3% จากประมาณการณ์ 3.25% ในเดือนมีนาคม
ค่าเงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงหลังจากที่เฟดตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยและปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจลง 0.1% และยังระบุว่าอาจไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดของเมื่อวานนี้บริเวณ 95.043 โดยเช้านี้อยู่ที่ระดับ 94.50
ขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นมาบริเวณ 1.12635 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับต่ำสุดของสัปดาห์นี้ที่ระดับ 1.1200 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 เดือนบริเวณ 105.41 ก่อนที่จะกลับขึ้นมาทรงตัวบริเวณ 105.84 เยน/ดอลลาร์ในเช้านี้ ด้านค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าลงแตะระดับ 35.16 บาท/ดอลลาร์ในเช้านี้ จากระดับสูงสุดวานนี้บริเวณ 35.36 บาท/ดอลลาร์
ข้อมูลจากกรมธนารักษ์ของสหรัฐฯ ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติ ได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1978 ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนที่คาดการณ์ว่าเฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยในเดือนดังกล่าว นักลงทุนชาวต่างชาติได้ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯออกมาถึง 7.46 หมื่นล้านเหรียญ (เดิมเข้าซื้อ 2.36 หมื่นล้านเหรียญ ในเดือน มี.ค.)
น้ำมันดิบ WTI ปิด -1% ที่ระดับ 48.01 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -1.7% ที่ระดับ 48.97 เหรียญ/บาร์เรล โดยตลาดน้ำมันได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปสงค์ในภาคพลังงานทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงออกมาน่าผิดหวังและตลาดเฝ้ารอผลการลงประชามติของอังกฤษในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 48 เหรียญ ก่อนจะปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย มาจากการที่ EIA เผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐฯปรับตัวลงประมาณ 900,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 10 มิถุนายน ซึ่งเป็นระดับการปรับตัวลงมากกว่ารายงานจาก API