ตลาดหุ้นเอเชีย ปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ยังคงอยู่ในแดนลบ โดยนักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่
นักวิเคราะห์บางส่วนระบุว่า เหตุการณ์สังหาร นาง Jo Cox สมาชิกพรรคแรงงาน ผู้ซึ่งสนันสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป น่าจะส่งผลให้ชาวอังกฤษเลือกที่จะอยู่ในอียูต่อไปมากขึ้น
ดัชนี MSCI's Asia-Pacific ex Japan ปรับตัวสูงขึ้น 0.8% อย่างไรก็ดี ภาพรวมในสัปดาห์นี้ดัชนีฯปรับตัวลดลงไปราว 2.5%
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ โดยที่รีบาวน์จากจุดต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากค่าเงินเยนที่หยุดแข็งค่าขึ้นและเริ่มทรงตัว
วันนี้ดัชนี Nikkei 225 ปิดปรับตัวสูงขึ้น 1.1% สู่ระดับ 15,599.66 จุด หลังจากปรับตัวลดลงกว่า 3.1% เมื่อวานนี้ หลังจากที่บีโอเจตัดสินใจไม่เพิ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการประชุมครั้งล่าสุด ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น
ดัชนี Nikkei 225 ยังคงลดลงกว่า 6% ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากความกังวลกรณี Brexit ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเลือกที่จะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิเช่น ค่าเงินเยน และพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น
ในวันนี้ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ ตามตลาดเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อ Brexit น้อยลง หลังจากที่นักกฎหมายชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งสนับสนุนให้อยู่ในสหภาพยุโรปถูกฆาตกรรม ซึ่งอาจช่วยหนุนคะแนนเสียงโหวต “อยู่ต่อ” ให้มากขึ้น
ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวสูงขึ้น 0.4% สู่ระดับ 2,885.11 จุด อย่างไรก็ดีภาพรวมทั้งสัปดาห์ปรับตัวลดลง 1.4%
อย่างไรก็ดีสำหรับสัปดาห์ ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงมากว่า 1% เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ประกอบกับนักลงทุนลดสถานะของตนเองลง หลังจากที่ก่อนหน้าที่มีแรงเข้าซื้อเก็งกำไรจากข่าวการควบรวมตลาดหุ้นจีนเข้ากับดัชนี MSCI Emerging Markets
ขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนี Hang Seng ปรับตัวสูงขึ้น 0.7% สู่ระดับ 20,169.98 จุด ขณะที่ภาพรวมทั้งสัปดาห์ปรับตัวลดลงไป 4.1%
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ช่วงนี้จะมีหลายเรื่องจากต่างประเทศที่จะมีผลในเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะการลงประชามติของอังกฤษเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 23 มิ.ย.อยากให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อยิ่งใกล้วันลงประชามติ ข้อมูลจะมีการสวิงและผันผวนไปมาค่อนข้างมาก อาจจะมีผลให้ผู้ลงทุนตกใจได้บ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ลงทุนที่ลงทุนในระยะยาวก็คงมีการตัดสินใจลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเป็นผู้ลงทุนใหม่หรือผู้ลงทุนเพิ่มเติมอยากให้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนที่จะลงทุนเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่ตัวพื้นฐานจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในวันที่ 23 มิ.ย.จะมีเหตุการณ์สำคัญที่จะมีผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน เรื่องการลงประชามติของอังกฤษเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เรื่องนี้แวดวงการเงินและภาคธุรกิจให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ถึงผลการลงประชามติครั้งนี้ เพราะความเป็นไปได้มีทั้งออกและไม่ออก
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการลงประชามติครั้งนี้คาดว่าจะเกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายสินทรัพย์เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ได้ทราบผล จะมีการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์จากที่มีความเสี่ยงสูงไปที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง
"คาดว่าผลที่เกิดจากการลงประชามติครั้งนี้ หากอังกฤษออกน่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในตลาดการเงินในระยะกลางถึงระยะยาว ...ถือเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงกับภาคเศรษฐกิจมากที่สุด ดังนั้นธุรกิจไทยที่มีความเกี่ยวกับกับปัญหานี้ของอังกฤษ ยุโรป จะต้องมีการจับตาและบริหารความสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ"