ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิด -0.33% ที่ระดับ 17,675.16 จุด โดยกลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจกับประเด็น Brexit และข้อมูลยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯที่หดตัวลง 0.3% ในเดือนพฤษภาคม
โดยภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภาพรวมทั้งสัปดาห์ ดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลง 1.07% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง 1.19%
รอยเตอร์ส รายงานว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯอาจเห็นแรงซื้อขายอย่างหนักและความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มนักลงทุนที่ประเมินต่อทิศทางการลงประชามติของอังกฤษในสัปดาห์หน้า
นักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ส ระบุว่า หากอังกฤษเลือกโหวตออกจากอียู ก็มีโอกาสเห็นตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลงอย่างหนัก แต่หากอังกฤษยังคงอยู่ในอียูต่อไปก็ไม่อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นครั้งใหญ่ได้ เนื่องจากยังคงมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจเป็นตัวกดดันต่อตลาดหุ้นได้
หัวหน้านักกลยุทธ์จาก JP Morgan Funds ระบุว่า ในสัปดาห์นี้ยังคงมีความไม่แน่นอนต่างๆอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประชามติของอังกฤษ และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อทำเนียบขาว
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นในเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ผลโหวตจะออกมาอยู่ในสหภาพยุโรปมากขึ้น โดยดัชนี MSCI Asia-Pacific ex Japan ปรับตัวสูงขึ้น 0.4% ในเช้าวันนี้
ขณะที่ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวสูงขึ้น 1.5% โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง
นักบริหารเงิน ระบุว่า ค่าเงินบาทในวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่อนข้างนิ่ง เพราะไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งนักลงทุนต่างรอปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้า คือ การลงประชามติของอังกฤษว่าจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ (Brexit) ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามอีกตัว คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 มิ.ย. นี้
นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทย ระบุว่า การซื้อขาย SET50 Index Futures ในวันศุกร์ที่ผ่านมารีบาวน์ทางเทคนิคและขึ้นไปแตะระดับ 900 จุดอีกครั้ง จากปัจจัยตลาดต่างประเทศรีบาวน์ แต่ปัจจัยเรื่อง Brexit ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดต่อเพราะยังมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันกลุ่มแบงก์ถูกดันจากเรื่องการให้บริการ"พร้อมเพย์"ทำให้กำไรของกลุ่มแบงก์ลดลง เนื่องจากคาดว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมจะลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันปรับตัวลงยังคงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน ด้านนักลงทุนต่างชาติชะลอการเข้าซื้อ ขณะที่ในตลาด Futures ต่างชาติมีสถานะ short ราว 1.5 หมื่นสัญญา แนวโน้มในสัปดาห์นี้ ยังเผชิญความผันผวน รอผล Brexit และการประชุม กนง.