ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินปอนด์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่อังกฤษเลือกออกจากอียู โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้อ่อนตัวลงมาที่ระดับ 96.18 ขณะที่ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.9% ในเช้านี้ ด้านค่าเงินยูโรเช้านี้ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.1046 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1019 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนอ่อนค่าขึ้นบริเวณ 102.77 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่แข็งค่าลงไปบริเวณ 101.99 เยน/ดอลลาร์
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯเมื่อคืนนี้ออกมาในเชิงบวก โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯมีการปรับประมาณการณ์จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ขึ้นมาที่ระดับ 1.1% จากระดับ 0.8% ที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อาจขยายตัวได้ 1.4%
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วน แสดงความคิดเห็นว่า ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวในไตรมาสแรก แต่ผลที่ออกมาก็ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ครั้งแรก และมีสัญญาณที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 แต่ผล Brexit อาจสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้ในช่วงปลายปีนี้
ขณะที่ คอนเฟอร์เรนซ์บอร์ด เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนขยายตัวได้ดีเกินคาดอย่างมากแตะระดับ 98.0 และเป็นอัตราการขยายตัวที่ดีที่สุดนับตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีนี้
เช้านี้ นายเจอโรม โพเวล สมาชิกบอร์ดฝ่ายปกครองของเฟด กล่าวว่า ผลการลงประชามติออกจากอียูของอังกฤษอาจเป็นปัจจัยใหม่ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯในเวลานี้ ขณะที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯเริ่มชะลอตัว
นอกจากนี้ Brexit อาจสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในทิศทางขาลง และเป็นไปได้ที่จะเป็นปัจจัยคุกคามต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเฟด
กลุ่มผู้นำอียูกล่าวว่าอังกฤษควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการลงประชามติออกจากอียูในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก
ถึงแม้ว่าค่าเงินปอนด์และตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีการฟื้นตัวเมื่อวานนี้ แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเปราะบางแม้ว่ากลุ่มผู้กำหนดนโยบายการเงินต่างๆ กล่าวว่า พวกเขาจะพยายามใช้มาตรการที่จำเป็นในการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศพวกเขา
ขณะที่ประเทศในแถบยุโรปกังวลต่อผลกระทบทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอีก 27 ประเทศ ขณะที่รัฐบาลอังกฤษเริ่มหาวิธีเจรจากับทางอียูภายใต้เงื่อนไข Article50 ของสนธิสัญญา Lisbon
นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี กล่าวว่า ธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกควรมีเป้าหมายการดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกันสำหรับปัญหา ผลกระทบจากภาวะการไร้เสถียรภาพ หรือ “Destabilizing Spillovers” ระหว่างเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ประธานอีซีบีเห็นชอบกับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ของภาคเอกชน ที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจมีการขยายตัวที่ลดลงมากขึ้น 0.5% ต่อไปอีกในช่ว่ง 3 ปีข้างหน้า จากผล Brexit
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แสดงความคาดหวังถึงความเป็นไปได้ที่อังกฤษอาจยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการเมืองกับทางอียู ซึ่งถึงแม้อังกฤษจะออกจากอียูแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตัดสัมพันธ์กับยุโรป
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า 3% หลังจากที่ดิ่งลงไปติดต่อกัน 2 วันทำการ และลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ จากภาวะ Brexit จากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยน้ำมันดิบ WTI เมื่อคืนนี้ปิด +3.3% ที่ระดับ 47.85 เหรียญ/บาร์เรล ขณะทีน้ำมันดิบBrent ปิด +3% ที่ระดับ 48.58 เหรียญ/บาร์เรล
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงาน เมื่อวานนี้เกิดเหตุมือระเบิดพลีชีพสามรายจุดชนวนตัวเองกลางสนามบินของเมืองอิสตันบลู ประเทศตุรกี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 31 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 150 ราย
