ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ โดยผลกระทบจาก Brexit นั้นดูจะทุเลาลงไป ประกอบกับนักลงทุนที่คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางแห่งต่างๆต้องออกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อหนุนเศรษฐกิจ
ดัชนี MSCI Asia-Pacific ex Japan ปรับตัวสูงขึ้น 1%
อย่างไรก็ดีลำดับการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษนั้นยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้ยังมีความกังวลต่ออนาคตของอียู
นักวิเคราะห์จาก Australia and New Zealand Bank ระบุว่า สิ่งที่แน่นอนสำหรับยุโรป คือ ความไม่แน่นอน เหล่าผู้นำในสหภาพยุโรปดูเหมือนว่าต้องการหนุนให้อังกฤษออกจากอียูโดยเร็ว ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองของอังกฤษบ่งชี้ว่าอังกฤษคงออกจากอียูได้ไม่เร็วนัก
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ ตามตลาดหุ้นทั่วโลก โดยความกังวลต่อ BREXIT นั้นได้ทุเลาลงไปบ้าง
ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวสูงขึ้น 1.6% ปิดที่ระดับ 15,566.86 จุด โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นฟื้นตัวได้ราวครึ่งหนึ่งนับจากวันศุกร์ที่หดตัวลงมากกว่า 7.9%
ตลาดหุ้นจีนปิดตลาดวันนี้ปรับตัวสูงขึ้น ทำจุดสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากทางการที่เข้ามาแสดงความมั่นใจว่าค่าเงินหยวนจะไม่ผันผวนมากจาก Brexit
ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวสูงขึ้น 0.7% สู่ระดับ 2,931.59 จุด
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.59 สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายรัฐบาลเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวสูงถึง 51.0% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการประเมินผลกระทบของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของไทย หลังจากอังกฤษลงมติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ว่า ยังไม่ได้มีการประเมินออกมาอย่างชัดเจน เพราะผลกระทบจาก Brexit ขณะนี้ยังเห็นภาพไม่ชัดเจน ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ จึงยังประเมินไม่ได้ แต่ยอมรับว่าหลังลงประชามติจะมีผลกระทบด้านจิตวิทยาของการลงทุนที่อาจทำให้ได้เห็นความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่เมื่อผ่านไป 1-2 วันสถานการณ์ก็กลับมาเป็นปกติ และเชื่อว่าหลายฝ่ายยังรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการที่อังกฤษต้องดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกถึง 2 ปี
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่อังกฤษจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่าผลกระทบจะมาจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจอังกกฤษเป็นหลัก ซึ่งจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวขของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ 0.07% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และกระทบ GDP ไทยในปี 60 ราว 0.2% แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่ผลกระทบลามไปถึงเศรษฐกิจประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป (EU) อาจฉุด GDP ของไทยให้หายไป 0.2% ในปีนี้ และ 0.75% ในปี 60