ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ ตามตลาดหุ้นทั่วโลก โดยนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อ BREXIT ออกไปบ้าง
ดัชนี MSCI's Asia-Pacific ex Japan ปรับตัวสูงขึ้น 1.5% โดยในไตรมาสที่ 2/2016 นี้ ดัชนีปรับตัวลดลงไปราว 0.8%
นักวิเคราะห์จาก IG ระบุว่า ผลกระทบจาก Brexit นั้นยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด แต่สิ่งหนึ่งที่กระจ่างชัดคือการที่ผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วโลกทำจุดต่ำสุดใหม่ และทำให้นโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งต่างๆต้องอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อไป
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการที่อังกฤษลงมติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไรก็ดี ดัชนี Nikkei 225 ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวสูงขึ้น 0.06% สู่ระดับ 15,575.92 จุด โดยในเดือนนี้ดัชนีฯปรับตัวลดลงมาราว 9.6% มากที่สุดในรอบเดือนนับตั้งแต่ พ.ค. 2012 (กว่า 4 ปี) ขณะที่ภาพรวมครึ่งปีแรกดัชนีปรับตัวลดลง 18.2% โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินเยน
ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรในสัปดาห์นี้ หลังจากที่เทขายทำกำไรอย่างหนักจากการทำประชามติของอังกฤษที่เลือกออกจากอียูในสัปดาห์ก่อน
ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวลดลง 0.1% สู่ระดับ 2,929.61 จุด
ตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ตามตลาดหุ้นทั่วโลก โดยนักลงทุนเริ่มกังวลต่อ Brexit น้อยลง
ดัชนี Hang Seng ปรับตัวสูงขึ้น 1.8% สู่ระดับ 20,794.37 จุด โดยในเดือนนี้ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ภาพรวมครึ่งปีแรก ดัชนีHang Seng ปรับตัวลดลงราว 5.1%
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 111.51 มีอัตราขยายตัวต่อเนื่อง 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 108.68 เนื่องจากการผลิตของสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากกรณีที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวน สรท.จึงคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะตัวติดลบราว 2%
"การส่งออกของไทยมีปัญหา เพราะภาวะเศรษฐกิจตามปกติไม่ค่อยดี พอมีเรื่อง Brexit เข้ามายิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจถดถอยมากไปอีก โอกาสที่จะเป็นบวกคงไม่มี" นายนพพร กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากตลาดโลกได้ อาทิ Brexit และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เนื่องจากพื้นฐานและเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่ง และอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ปัจจุบันปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ก็ทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ โดยอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีกว่า คาดช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ซบเซาลง