ค่าเงินยูโร ทรงตัวอยู่บริเวณ 1.1149 ดอลลาร์/ยูโร โดยสามารถฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดหลังการประชามติ Brexit บริเวณ 1.0912 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Brexit นั้น ส่งผลให้กระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางแห่งต่างๆในเอเชียออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายราย ระบุว่า การชะลอการลงทุน ผลกระทบต่อตลาดแรงงานและการบริโภค จาก Brexit จะทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน
นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า ความไม่แน่นอนของอังกฤษและอียู เป็นไปได้ว่าจะกดดันการส่งออกของภูมิภาคเอเชีย และบางทีอาจทำให้การค้าของเอเชียชะลอตัวลงยาวนานขึ้น
HSBC ระบุว่า โอกาสที่ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และไทย จะเพิ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นไปได้มากขึ้น
นักวิเคราะห์จาก HSBC ระบุว่า เป็นไปได้ยากที่บีโอเจจะไม่ดำเนินมาตรการอะไรเพิ่มเติม โดยทางการญี่ปุ่นน่าจะพยายามทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นมามาก ทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหาดังกล่าวคือการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินอื่นๆก็จำเป็นเช่นกัน
ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเมื่อวานนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์น้ำมันดิบของเอเชียที่ชะลอตัวลง สต็อกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และสัญญาณที่ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับแรงหนุนจากรัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่ระบุว่าตลาดน้ำมันดิบกำลังเข้าสู่สมดุลก็ตาม
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลดลง 25 เซนต์ สู่ระดับ 50.10 เหรียญ/บาร์เรล