นายปิแอร์ มูสโกวิชี กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ ของคณะกรรมาธิการอียู (EU Commission) ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของยูโรโซนและอังกฤษ หลังอังกฤษโหวตออกจากอียู โดยระบุว่า Brexit นั้นจะกระทบต่อ GDP อังกฤษราว 1%-2.5% ภายในปี 2017 และคาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะเติบโตได้ 1.8%และ 1.9% ในปีนี้และปี 2017 ตามลำดับ
ขณะที่คาดว่า Brexit จะส่งผลกระทบต่อ GDP ยูโรโซน ราว 0.2%-0.5% ภายในปี 2017
ทั้งนี้คาดการณ์เดิมของคณะกรรมาธิการอียูเมื่อเดือน พ.ค. คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของยูโรโซน จะอยู่ที่ระดับ 1.6% ในปีนี้ และ 1.8% ในปี 2017
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ที่ผ่านมา IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของยูโรโซนลงไปแล้วจากระดับ 1.7% สู่ระดับ 1.6% ในปีนี้ และจากระดับ 1.7% สู่ระดับ 1.4%ในปี 2017
นายมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี) มีกำหนดการขึ้นกล่าวปาฐกถาในวันนี้เวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก่อนจะเริ่มการประชุมบีโออีในวันพฤหัสบดีนี้
ผลสำรวจจาก Bloomberg ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ราว 55% คาดว่าในการประชุมครั้งนี้ บีโออีจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 เบสิสพ็อย สู่ระดับ 0.25% ซึ่งนับเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่งในวันพุธนี้ เพื่อปูทางให้นางเทเรซา เมย์ รมว.มหาดไทยอังกฤษ เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สืบต่อจากเขา
ทั้งนี้ นางเทเรซา เมย์ เป็นผู้นำในแคมเปญการโหวตให้อังกฤษ “อยู่” ในอียูต่อไป อย่างไรก็ดีนางเมย์ ได้ลดท่าทีดังกล่าวลงหลังผลออกมาเป็น Brexit แต่ทั้งนี้นางเมย์ ส่งสัญญาณว่าเธอต้องการประนีประนอมกับอียูเพื่อให้อังกฤษยังอยู่ในระบบ Single Market กับอียูต่อไปและจะดำเนินการต่อรองกับอียูเพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพเข้าอังกฤษ
นางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขา Kansas City ระบุเมื่อวานนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำเกินไป พร้อมส่งสัญญาณว่าเธอพร้อมที่จะกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่คณะกรรมการเฟดได้คาดการณ์เอาไว้
“อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนานเกินไป เป็นความเสี่ยง” นางจอร์จ กล่าว
นอกจากนี้นางจอร์จ ยังระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลการจ้างงานที่ดีดตัวกลับขึ้นมาได้ในเดือน มิ.ย. นั้นเป็นเรื่องน่ายินดี ขณะที่ Brexit นั้นดูจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวมากกว่าที่จะต้องมากังวลในระยะสั้น
ทั้งนี้นางจอร์จ เป็นสมาชิกเฟดที่โหวตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดมาทั้งการประชุมในเดือน ม.ค. มี.ค. และเม.ย. ยกเว้นการประชุมในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเท่านั้นที่เธอโหวตให้คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้
ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างหนักเมื่อวานนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโสะ อาเบะ กล่าวว่า เขามีแผนที่จะใช้นโยบายทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังพรรครัฐบาลของนายอาเบะสามารถชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาได้สำเร็จ
ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 31 สกุลเงินหลัก หลังจากที่นายอาเบะมีถ้อยแถลงเมื่อวานนี้ ซึ่งให้สัญญาว่าเขาจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อหนุนการบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนการสร้างรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ค่าเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ยังถูกกดดันจากตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อีกด้วย
ค่าเงินเยนเมื่อวานนี้อ่อนค่าลง 1.77% สู่ระดับ 102.51 เยน/ดอลลาร์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (11 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด หลังจากมีรายงานว่า ไนจีเรียและซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน และรายงานของเบเกอร์ ฮิวจ์ซึ่งระบุว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใช้งานในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ส.ค.ลดลง 65 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 44.76 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ก.ย.ลดลง 51 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 46.25 ดอลลาร์/บาร์เรล