ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งดัชนี S&P 500 และดัชนีดาวน์โจน แม้จะได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่หดตัวลง และท่าทีระมัดระวังของนักลงทุนก่อนหน้าการประกาศงบการเงินในไตรมาสที่ 2 ก็ตาม
ดัชนี S&P 500 ปรับตัวสูงขึ้น 0.01% สู่ระดับ 2,152.43 จุด ขณะที่ดัชนีดาวน์โจน ปรับตัวสูงขึ้น 0.13% สู่ระดับ 18,372.12 จุด
นักวิเคราะห์จาก KITCO ระบุว่า ตลาดสหรัฐฯยังอยู่ในภาวะสับสน เนื่องจากรายงาน Beige Book ที่บ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อและค่าแรงยังไม่มีสัญญาณที่ดีนัก แต่ความสับสนดังกล่าวจะหมดไปหลังการประชุมเฟดในปลายเดือนนี้
ตลาดหุ้นเอเชียทรงตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนในวันนี้ ท่ามกลางนักลงทุนที่คาดการณ์ว่าบีโออีจะลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันนี้
ดัชนี MSCI Asia-Pacific ex Japan ปรับตัวลดลง 0.1% แต่ยังคงอยู่ใกล้กับระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน
เมื่อวานนี้ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3% ตรงข้ามกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปีของธนาคารกลางมาเลเซีย เนื่องจากธนาคารกลางมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) และดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงปรับตัวลดลงติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา โดยในเดือน มิ.ย.59 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 42.5 และ43.3 ตามลำดับ สะท้อนความความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นด้านสถานการณ์ราคาสินค้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมไปถึงภาระหนี้สิน ซึ่งมุมมองของครัวเรือนที่เต็มไปด้วยความกังวลนี้จะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาพการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง
นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.10-35.25 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องจับตาการประชุมบีโออี