ยอดค้าปลีกสหรัฐฯประจำเดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าคาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์และสินค้าอื่นๆปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 11 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการประกอบยานพาหนะ ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งนี้ช่วยหนุนมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 2/2016
ยอดค้าปลีกสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น 0.6% (เดิม 0.2%, คาดการณ์ 0.1%) ขณะที่ยอดค้าปลีกพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น 0.7% (เดิม 0.4%, คาดการณ์ 0.4%)
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวสูงขึ้น 0.6% (เดิม -0.3%, คาดการณ์ 0.2%)
ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งนี้ช่วยให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในขณะนี้ต้องรอให้เหล่าผู้กำหนดนโยบายของเฟดประเมินผลกระทบจาก Brexit เสียก่อนว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างไร
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก UniCredit Research ระบุว่า หากนี่เป็นช่วยเวลาปกติ ข้อมูลดังกล่าวเพียงพอที่จะให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แต่เฟดต้องการ Wait&See เพื่อดูว่า Brexit นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างไร ก่อนจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ประจำเดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน เท่ากับเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น 2.3% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2%
นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า เมื่อมองไปยังครึ่งปีหลัง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและราคาสินค้านำเข้าที่ไม่ปรับตัวลดลงไปต่อ น่าจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นประจำเดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 89.5 (เดิม 93.5, คาดการณ์ 93.7) เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้สูงกังวลต่อผลกระทบจาก Brexit จะส่งผลให้ราคาหุ้นลดลง อย่างไรก็ดีราคาหุ้น ณ ขณะนี้นั้นกำลังซื้อขายกันในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ความน่าจะเป็นที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้นหลังสหรัฐฯเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใส โดยความน่าจะเป็นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 1 ครั้งในเดือน ธ.ค. นี้เพิ่มขึ้นจากระดับ 37% ในวันก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 44% ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
เฟดสาขานิวยอร์กได้เพิ่มคาดการณ์ GDP สหรัฐฯในไตรมาส 3/2016 สู่ระดับ 2.61% จากเดิม 2.31% ที่คาดการณ์ไว้ในสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากข้อมูลภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด ขณะที่เพิ่มคาดการณ์ในไตรมาส 2/2016 สู่ระดับ 2.18% จากเดิมที่ 2.09%
ในคืนวันศุกร์ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า ตัวเขานั้นคาดว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยในปี 2017 และ 2018 อย่างไรก็ดีหากเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็ควรสูงขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ นายนีล คาชคารี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิส ระบุว่า เหล่าผู้กำหนดนโยบายของเฟดกำลังถกเถียงกันเป็นการภายในว่า “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตอย่างเชื่องช้า”
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาต่างๆถึง 14 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ต่างบอกเป็นนัยว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ เพียงแต่ต้องรอไปจนกว่าจะประเมินผลกระทบจาก Brexit เรียบร้อยเสียก่อน
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Deutsche Bank ระบุว่า พวกเขาต่างเปิดโอกาสสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ หากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีตามที่พวกเขาได้คาดเอาไว้ โดยในตอนนี้ความสนใจของพวกเขาคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย สองครั้งดูท่าจะยาก หนึ่งครั้งดูเป็นไปได้
เหล่านักวิเคราะห์มองว่าไม่มีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. นี้ ขณะที่ผลการสำรวจจาก Wall Street Journal ระบุว่า มีนักเศรษฐศาสตร์เพียง 25% ที่คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือน ก.ย. ส่วนการประชุมเดือน พ.ย. ดูเป็นไปได้ยากที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากการประชุมถูกจัดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเพียง 6 วัน
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก BMO Capital Markets ระบุว่า เฟดนั้นจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ ช้ามากๆ คาดว่าจะขึ้นเพียง 1 ครั้งในสิ้นปีนี้
ค่าเงินลีร่าของตุรกีและค่าเงินของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลง ขณะที่ราคาของสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและค่าเงินเยนปรับตัวสูงขึ้นในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีของตุรกี ระบุว่า มีการพยายามทำรัฐประหารขึ้น
ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับค่าเงินลีร่าของตุรกี
นายกรัฐมนตรีของตุรกี ระบุในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ทหารของตุรกีพยายามทำรัฐประหาร มีนำกองกำลังทหารมาปิดสะพานแห่งสำคัญหลายแห่งของเมืองอีสตันบูล มีการนำรถถังเข้าไปภายในสนามบิน และนำเครื่องบินเจ็ทบินต่ำเหนือเมืองหลวง
ทัั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นในคืนวันศุกร์ จากข่าวการทำรัฐประหารในตุรกี โดยน้ำมันดิบ WTI ปิด +0.6% ที่ระดับ 45.95 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบ Brent ปิด +0.5% ที่ระดับ 47.61 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ข่าวล่าสุดของการล้มเหลวในการทำรัฐประหารที่ตุรกีจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง
อย่งาไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก Forex.com ระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจจากจีนและสหรัฐฯมีพัฒนาการที่ดีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และหากยังคงมีพัฒนาการที่ดีต่อไปเรื่อยๆน่าจะช่วยให้มุมมองต่อความต้องการน้ำมันดิบดีขึ้นได้