ยอดสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าคาดการณ์เมื่อคืนนี้ โดยปรับตัวสูงขึ้น 1.19 ล้านยูนิต (เดิม 1.14 ล้านยูนิต, คาดการณ์ 1.17 ล้านยูนิต) หรือปรับตัวสูงขึ้นกว่า 4.8% ขณะที่ยอดขออนุญาตสร้างบ้านปรับตัวสูงขึ้น 1.15 ล้านยูนิตเท่ากับคาดการณ์ (เดิม 1.14 ล้านยูนิต, คาดการณ์ 1.15 ล้านยูนิต)
ข้อมูลยอดสร้างบ้านใหม่ที่สดใสของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 2/2016 ที่ผ่านมา ออกมาดีกว่าในไตรมาสแรก ดังนั้นจึงบ่งชี้ว่าภาคการก่อสร้างที่อยู่อาศัยน่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาส 2/2016 ได้บ้าง
ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด ช่วยหนุนมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมันโดย ZEW ออกมาต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2012 หลัง Brexit รวมถึงกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางแห่งต่างๆของโลกจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม และกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้มากขึ้น
ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 97.148 จุด แข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา
ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยนและยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 11 วันที่ระดับ 1.1011 ดอลลาร์/ยูโร และปิดปรับตัวลดลง 0.5% สู่ระดับ 1.1017 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงทำจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. โดยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 106.52 เยน/ดอลลาร์
นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง ขณะที่ข้อมูลของเยอรมันที่อ่อนแอกว่าคาด ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลยูโร
เครื่องมือ FedWatch โดย CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์สคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในเดือน ธ.ค. เกือบจะ 50% เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 20%
นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย อ่อนค่าลง 1.5% ทำจุดต่ำสุดในรอบ 11 วัน ที่ระดับ 0.7476 ดอลลาร์/ดอลลาร์ออสเตรเลีย ขณะที่ค่าเงินนิวซีแลนด์อ่อนค่าลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ โดยอ่อนค่าลง 1.35% สู่ระดับ 0.7018 ดอลลาร์/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงอังกฤษลงในปี 2016 และ 2017 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นหลังอังกฤษเลือกออกจากอียู
IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปี 2016 และ 3.4% ในปี 2017 โดยลดลง 0.1% จากการคาดการณ์ในเดือนเม.ย. ที่ระดับ 3.2% และ 3.5% ตามลำดับ
ขณะที่ปรับลดเศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัว 1.5% ในปีนี้ ซึ่งลดลง 0.2% จากที่คาดการณ์ไว้ 1.7% เมื่อเดือนเม.ย. และคาดว่าจะขยายตัว 1.3% ในปีหน้า ซึ่งลดลงอย่างมากถึง 0.9% จากระดับ 2.2%
IMF ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ล่าสุดว่า Brexit นั้น ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจโลก ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกสำหรับปี 2559-2560 จึงย่ำแย่ลง โดยผลโหวต Brexit ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ตลอดจนความเชื่อมั่นของตลาดและผู้บริโภค
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดลบเมื่อคืนนี้ จากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด หลังจากมีการเผยข้อมูลว่าแท่นจุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะได้รับแรงหนุนจากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบโดย API ที่ออกมาลดลง 2.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 1.3% ปิดที่ 44.65 ดอลลาร์/บาร์เรล
บริษัทเบเกอร์ ฮิวส์ รายงานเมื่อวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เปิดทำการในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 22 แห่ง เป็น 542 แห่ง ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน