ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯทรงตัวในเดือน ก.ค. และยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวสูงขึ้นมากทำจุดสูงสุดในรอบ 8 ปีครึ่ง บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีเสถียรภาพและอาจทำให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯประจำเดือน ก.ค. ออกมาที่ระดับ 97.3 (เดิม 97.4, คาดการณ์ 95.6) โดยไม่ปรับตัวลดลงมากนักแม้จะเกิด Brexit ขึ้นก็ตาม โดยในแบบสอบถามเกี่ยวกับการจ้างงาน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีมุมมองต่อตลาดแรงงานดีขึ้นในเดือน ก.ค.
ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในเดือน มิ.ย. โดยพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 ปี โดยยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 592,000 ยูนิต (เดิม 572,000 ยูนิต, คาดการณ์ 560,000 ยูนิต) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2008 โดยยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น สู่ระดับ 572,000 ยูนิต จากเดิมที่ 551,000 ยูนิต
สำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า ผลการประชุมในวันนี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยตามเดิม และจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปจนกว่าจะถึง ก.ย. หรือ ธ.ค. เพื่อติดตามสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อ โดยสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เฟดน่าจะระบุถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาสดใส รวมถึงข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งในเดือน มิ.ย. และกล่าวถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยลบอื่นๆที่จะกดดันอัตราเงินเฟ้อลง
เช่นเดียวกับสำนักข่าว CNBC ที่รายงานว่า เฟดน่าจะมีมุมมองที่เป็น Hawkish มากขึ้น ขณะที่ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
ปัจจุบัน Core PCE Price index ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดพิจารณาอยู่ที่ระดับ 1.6% น้อยกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2%
ก่อนหน้านี้นาย จอห์น วิลเลี่ยม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก และนายวิลเลี่ยม ดัดเล่ห์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ระบุว่า ต้องการเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นถึงเป้าหมายเสียก่อนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่โพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์สก่อนหน้านี้ ระบุว่า เฟดน่าจะรอจนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งของสหรัฐฯในเดือน พ.ย. นี้ไปก่อน จึงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ส่วนโพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของ CNBC ประจำเดือน ก.ค. ระบุว่า ในปีนี้เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งลดลงจากเดิมที่ 1-2 ครั้งในการสำรวจเดือน มิ.ย. และลดลงจาก 3 ครั้งในการสำรวจช่วงต้นปี และผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 43 คน ต่างระบุว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงเดือน ธ.ค. ต่างจากการสำรวจก่อนหน้าที่ระบุว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. โดยระบุว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่กดดันการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อวานนี้ เนื่องจากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบโดย API ที่ปรับตัวลดลงเพียง 8.27 แสนบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ว่าจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด ขณะที่ในวันนี้จะมีข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบโดย EIA
น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 0.5% สู่ระดับ 42.92 เหรียญ/บาร์เรล หลัง API เผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบ