การประชุมอีซีบี
ผลการสำรวจนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ส ได้ผลว่า นักวิเคราะห์เกือบทั้งหมดคาดการณ์ว่าอีซีบีจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันนี้ ขณะที่จะขยายเวลาช่วงเวลาในการใช้มาตรการ QE ออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค. 2017 ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อหนุนอัตราเงินเฟ้อ โดยนักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่าอีซีบีจะขยายการใช้มาตรการ QE ออกไปอีก 6 เดือนในวันนี้ เนื่องจากมุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว
ขณะที่ผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จำนวน 50 คน โดย Bloomberg ระหว่างวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย. ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์เกือบครึ่งหนึ่งคาดการณ์ว่าอีซีบีจะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุมวันนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มากกว่า 80% คาดว่าอีซีบีจะเพิ่มนโยบายการเงินในอนาคต เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวอยู่ใกล้ระดับ 0% มานานกว่า 2 ปี นอกจากนี้ยังถูกกดดันโดย Brexit ที่จะทำให้การฟื้นตัวช้าลงไปอีก โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 100% คาดการณ์ว่า นโยบายผ่อนคลายครั้งถัดไปของอีซีบีจะเป็นการขยายมาตรการ QE ออกมาจากเดิมที่จะหมดอายุในเดือน มี.ค. 2017 รองลงมาคือการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงไปอีก
นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าอีซีบีจะลดประมาณการณ์เศรษฐกิจของปี 2017 ลง จากเดิมอยู่ที่ระดับ 1.7% ซึ่งอีซีบีคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
รองผู้ว่าฯบีโอเจเผยนโยบายการเงินของบีโอเจ ไม่ได้พุ่งเป้าที่อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่พร้อมจะลดดอกเบี้ยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ
นายฮิโรชิ นากาโสะ รองผู้ว่าการบีโอเจ ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าบีโอเจจะเข้าซื้อตราสารหนี้ของต่างประเทศเพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง เนื่องจากนโยบายของบีโอเจนั้นมีไว้เพื่อให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่เพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดีมีความเป็นไปได้ที่บีโอเจจะลดอัตราดอกเบี้ยลงให้ติดลบมากยิ่งขึ้น หรือขยายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2%
ก่อนหน้านี้ นายโคอิชิ ฮามาดะ ที่ปรึกษานายกฯญี่ปุ่น ได้ออกมาหนุนให้บีโอเจเข้าซื้อตราสารหนี้ต่างประเทศ
ข้อมูลการค้าของจีนแข็งแกร่งกว่าคาด
ยอดนำเข้าส่งออกของจีน ประจำเดือน ส.ค. ออกมาดีกว่าคาด โดยยอดการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ขณะที่ยอดการส่งออกปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาด
เมื่อเทียบรายปีในสกุลดอลลาร์ ยอดส่งออก ปรับตัวลดลง -2.8% (เดิม -4.4%, คาดการณ์ -4%) ส่วนยอดนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% (เดิม -12.5%,คาดการณ์ -4.9%) ขณะที่ดุลการค้าปรับตัวลดลงสู่ระดับ 52.05 พันล้านเหรียญ (เดิม 52.31 ล้านเหรียญ, คาดการณ์ 58 ล้านเหรียญ)
นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า แม้ข้อมูลการส่งออกจะดีขึ้น แต่อุปสงค์ของตลาดโลกที่อ่อนแอยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกและการผลิตของจีนต่อไป
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นมากในวันนี้ เนื่องจากข้อมูลโดย API (หน่วยงานของเอกชน) ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับตัวลดลง 12.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมากที่สุดในรอบมากกว่า 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ปี 1985 โดยในคืนนี้นักลงทุนกำลังติดตามข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบโดย EIA (หน่วยงานรัฐบาล) ว่าจะเป็นไปได้ทิศทางเดียวกันหรือไม่
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้น 1.74% สู่ระดับ 46.292 เหรียญ/บาร์เรล