CPI
ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ของสหรัฐฯประจำเดือน ส.ค. ออกมาดีกว่าคาด โดยได้รับแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 32 ปีครึ่ง นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากค่าเช่าที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้เฟดมีโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มากขึ้น
โดยเมื่อเทียบรายเดือน CPI ปรับตัวสูงขึ้น 0.2% มากกว่าคาดที่ 0.1% ขณะที่หากเทียบรายปีจะปรับตัวสูงขึ้น 1.1% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.8% ส่วน Core CPI นั้นปรับตัวสูงขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือนมากกว่าที่คาดที่ 0.2% ขณะที่หากเทียบรายปี Core CPI ปรับตัวสูงขึ้น 2.3% ในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.2% ในเดือนก่อนหน้า
หลังสหรัฐฯเผยข้อมูล CPI ความน่าจะเป็นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยภายในสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่ที่ระดับ 12% ขณะที่ความน่าจะเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 47.3% สู่ระดับ 55%
ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลปรับตัวสูงขึ้น 1% ในเดือนที่ผ่านมา มากที่สุดนับตั้งแต่ ก.พ. 1984 ต่อเนื่องจากเดือน ก.ค. ที่เพิ่มสูงขึ้น 0.5% โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากนโยบายโอบามาแคร์
ค่าเงินดอลลาร์
ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังข้อมูล CPIสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด โดยดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.8% สู่ระดับ 96.063 จุด ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงกว่า 0.75% สู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 วัน ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงกว่า 1.70% ต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน ส่วนเช้าวันนี้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยสู่ระดับ 96.00 จุด
น้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบหดตัวลงกว่า 2% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกของอิหร่านที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาด นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คอยกดดันราคาน้ำมันดิบลง
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงกว่า 2% สู่ระดับ 43.03 เหรียญ/บาร์เรล โดยทำจุดต่ำสุดบริเวณ 42.74 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 5 สัปดาห์ ส่งผลให้ภาพรวมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 6%
ระเบิดที่นิวยอร์ก
เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่กรุงนิวยอร์ก มีคนบาดเจ็บกว่า 29 คน ขณะนี้ เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ และฝ่ายความมั่นคงกำลังตรวจสอบที่เกิดเหตุ