ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในเดือน ต.ค. ปรับตัวลดลงแตะระดับ 87.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2015 เนื่องจากความไม่แน่นอนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนหน้า ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ก.ย. เนื่องจากต้นทุนพลังงาน รวมถึงสินค้าอื่นๆปรับตัวสูงขึ้น ช่วยหนุนมุมมองที่ว่าอัตราดอกเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อ โดยปรับตัวสูงขึ้น 0.7% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น 0.3%
ขณะที่ยอดค้าปลีกเองก็ออกมาดีกว่าคาดเนื่องจากยอดขายรถยนต์, ร้านอาหาร และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยปรับตัวสูงขึ้น 0.6%ขณะที่ยอดค้าปลีกตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ย. ในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาแล้ว 2.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2015
ถ้อยแถลงสมาชิกเฟด
วันศุกร์ที่ผ่านมามีถ้อยแถลงของสมาชิกเฟด 3 ราย ได้แก่ นางเจเนต เยลเลน ประธานเฟด ซึ่งไม่ได้ระบุถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่นายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน (มีสิทธิออกเสียง) และ นายวิลเลี่ยม ดัดเลย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก (มีสิทธิออกเสียง) มีถ้อยแถลงที่หนุนให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นางเจเนต เยลเลน ประธานเฟด ระบุในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า มีความเป็นไปได้ที่จะรักษาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาโดยการปล่อยให้เศรษฐกิจมีความร้อนแรง ซึ่งจะช่วยหนุนอุปสงค์โดยรวมและทำให้ตลาดแรงงานตึงตัว อย่างไรก็ดีการใช้วิธีดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเสียก่อน ขณะที่ไม่ได้ระบุถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้แต่อย่างใด
ผลกระทบจากถ้อยแถลงดังกล่าวซึ่งบ่งชี้ว่านางเยลเลจอาจจะปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ได้ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 และ 30 ปี ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย.
นายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน (มีสิทธิออกเสียง) ระบุในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯใกล้เข้าสู่สภาวะการจ้างงานเต็มที่และใกล้จะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของเฟดที่ 2% ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงควรปรับถูกปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นายวิลเลี่ยม ดัดเลย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก (มีสิทธิออกเสียง) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Wall Street Journal ว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไปของเฟดกำลังใกล้เข้ามาและเป็นไปได้ว่าจะปรับขึ้นภายในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า และเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเติบโตได้ในอัตรา 2-2.5%
น้ำมันดิบ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลง 0.2% สู่ระดับ 50.35 ดอลลาร์/บาร์เรล ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบโดยบริษัทเบเกอร์ ฮิวส์ ที่ระบุว่าเพิ่มขึ้น 4 แท่น นับเป็นสัปดาห์ที่ 16 ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบไม่ได้ปรับตัวลดลงเลย บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอนาคต