วันนี้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากจุดสูงสุดในรอบ 9 เดือนครึ่งเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน เนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังการซื้อขายก่อนทราบรายงานการจ้างงานสหรัฐฯคืนนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดในภายภาคหน้า
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า บรรดานายจ้างสหรัฐฯมีแนวโน้มจะจ้างงานเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแน่นอนว่าอาจส่งผลให้เฟดน่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้
โดยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากรอยเตอร์ส คาดว่า การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯน่าจะเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่งในเดือนที่ผ่านมา จากเดิมที่ระดับ 161,000 ตำแหน่ง
ทางด้านฝั่งยุโรป ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากรอยเตอร์ส คาดการณ์ว่า อีซีบีจะประกาศขยายมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพิ่มขึ้นอีก 6 เดือนในสัปดาห์หน้า และน่าจะยังคงระดับการเข้าซื้อพันธบัตรรายเดือนเช่นเดิม
ขณะที่วันพุธที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี กล่าวว่า จะพิจารณาการผสมผสานเครื่องมือในการดำเนินนโยบายในการประชุมวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ซึ่งการเคลื่อนไหวของอีซีบีในการประชุมสัปดาห์หน้าอาจส่งผลกระตุ้นอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินยูโรได้มากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดกระแสคาดการณ์เพิ่มมากขึ้นว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ต่อไป จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์
ขณะที่ประเด็นสำคัญที่สุดในขณะนี้ที่ตลาดการเงินให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นการลงประชามติของอิตาลี ที่กำลังจะจัดการลงประชามติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์นี้ โดยล่าสุดมีแนวโน้มว่าผลการลงประชามติจะเป็นการไม่รับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือโหวต "NO" ซึ่งอาจทำให้นาย มัตเตโอ เรนซี พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง หาก นายเรนซี พ้นจากตำแหน่ง จะส่งผลให้การเงินของอิตาลีสูญเสียเสถียรภาพและทำให้เกิดความไม่มั่นใจในมูลค่าเงินยูโรในภาพรวมจากนักลงทุนทั่วโลก
นาย มิโนริ อุจิดะ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ ธนาคารโตเกียว-มิตซูบิชิ กล่าวว่า เป็นที่พูดคุยกันไปทั่วว่าตลาดโลกนั้นเตรียมรับมือกับผลประชามติในระดับนึงแล้ว แต่ถึงกระนั้นอาจเกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองและการปฏิรูปการเงิน ดังนั้น เราควรเตรียมตัวรับมือกับการอ่อนค่าของเงินยูโร ถึงแม้จะมีคาดการณ์ว่าไว้แล้วว่าชาวอิตาลีจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลีที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มีมุมมองว่า หากผลการลงประชามติเป็น “YES” หรือเลือกรับร่างรัฐธรรมนูญ อาจหนุนให้รัฐบาลอิตาลีมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจ
ด้านสำนักข่าว Market Watch ระบุว่า มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าผลที่ออกมาจากการลงประชามตินั้นจะเป็น “NO” ซึ่งอาจจุดประกายวิกฤตทางการเมืองและแรงเทขายในตลาดหุ้นของอิตาลี
ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ตลาดหุ้นจาก J.P. Morgan กล่าวว่า การลงประชามติอาจส่งผลให้ตลาดเกิดภาวะ Knee-Jerk ให้ตลาดปรับตัวลงประมาณ 2-4% ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากผลที่ออกมาเป็น “NO” ซึ่งจะไม่เหมือนกับกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯและ Brexit ที่เกิดขึ้น แต่ก็อาจจะไม่เกิดความแปลกใจเท่าไรนักหากผลที่ออกมาเป็น “NO” เนื่องจากนักลงทุนลดการตอบรับจากกระแสดังกล่าวไปแล้ว
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจเอเชีย วันนี้ ผลสำรจจากรอยเตอร์ส แสดงให้เห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3/2016 มีการปรับทบทวนคาดการณ์ดีขึ้นกว่าที่คาด แต่สัญญาณการขยายตัวยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปริมาณความต้องการภายในประเทศที่อ่อนตัวลง
โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ 2.4% ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เมื่อเทียบกับระดับ 2.2% จากการประมาณการณ์ขั้นต้น