ในคืนวันศุกร์ผลการประกาศข้อมูลภาคแรงงานสหรัฐฯประจำเดือนพฤศจิกายนส่วนใหญ่ออกมาดีขึ้น นำโดยอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี ที่ระดับ 4.6% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวขึ้นเกินคาดเล็กน้อยที่ระดับ 178,000 ตำแหน่ง แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 36,000 ตำแหน่ง จึงยิ่งยืนยันว่าเฟดจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้
อัตราค่าแรงปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบปี หลังจากที่ปรับตัวขึ้นติต่อกันในช่วง 2 เดือน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ว่า การปรับตัวลงของอัตราค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงที่เหนือความคาดหมาย อาจส่งผลให้สมาชิกเฟดอาจนำมาทบทวนในการประชุมระหว่าง 13-14 ธันวาคมนี้
ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงปรับตัวลงเกินคาดในเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ -0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก่อนหน้า และ 0.3% ในเดือนกันยายน ซึ่งอัตราค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงปรับตัวลดลงจากกลุ่มแรงงานเหมืองแร่, ภาคการผลิต และกลุ่มโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ขณะที่เมื่อเทียบรายปี อัตราค่าจ้างในเดือนพฤศจิกายนยังคงปรับตัวขึ้น 2.5% จากระดับ 2.8% ในเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นการขยายตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปีครึ่ง
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อวานนี้ พบว่า สถาบันการจัดการด้านอุปทานหรือ ISM เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นเกินคาดแตะระดับ 57.2 จากระดับ 54.8
สำหรับผลการลงประชามติของอิตาลีในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนเกือบ 60% ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขณะที่เมื่อวานนี้ นายมัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศจะลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยอมรับความพ่ายแพ้ หลังทราบผลการลงประชามติที่ออกมา
อย่างไรก็ดี รายงานจาก CNBC ระบุว่า นายเรนซี จะยังคงดำรงตำแหน่งจนกว่าจะผ่านร่างงบประมาณในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ทั้งนี้ ผลการลงประชามติดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินยูโรร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 20 เดือนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ที่ระดับ 1.0503 ดอลลาร์/ยูโร จากความไม่มีเสถียรภาพของประเทศ ก่อนจะรีบาวน์กลับในเช้านี้แถวระดับ 1.0757 ดอลลาร์/ยูโร
นักวิเคราะห์จาก Reuters กล่าวว่า ค่าเงินยูโรปรับตัวลดลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 20 เดือนหลังผลประชามติออกมาเป็นโหวต “NO” แต่ค่าเงินก็มีการดีดกลับอย่างรวดเร็วไปทำจุดสูงสุดระหว่างวันได้ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นเมื่อวานนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในลักษณะ “Sell the rumor, buy the fact”
ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงมาแถวระดับ 100.09 หลังจากที่ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 101 ในวันจันทร์ที่ผ่านมา
น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับตัวขึ้น 11 เซนต์ ที่ระดับ 51.79 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่ช่วงต้นตลาดขึ้นไปทำจุดสูงสุดบริเวณ 52.42 เหรียญ/บาร์เรล โดยกลับไปทำจุดสูงสุดแถวช่วงกรกฎาคม ปี 2015
ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับตัวขึ้น 24 เซนต์ ที่ระดับ 54.70 เหรียญ/บาร์เรล หลังขึ้นไปทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่กรกฎาคมปี 2015 เช่นกันที่ระดับ 55.33 เหรียญ/บาร์เรล