ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมาบริเวณ 1.0408 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ลงมาทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดบริเวณ 1.0366 ดอลลาร์/ยูโรวานนี้ ภาพรวมสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลง 1.4%
ค่าเงินเยนเช้านี้ทรงตัวบริเวณ 118.33 เยน/ดอลลาร์ โดยยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าหลังจากที่เมื่อวานขึ้นไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์บริเวณ 118.66 เยน/ดอลลาร์ โดยภาพรวมสัปดาห์นี้ปรับอ่อนค่า 2.6%
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯประจำเดือนพฤศจิกายน พบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (CPI) ออกมาตามคาดแตะระดับ 0.2% โดยลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.4% ขณะที่ดัชนี CPI ที่ไม่รวมภาคอาหารและพลังงานออกมาดีขึ้นตามคาดที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.1%
นักวิเคราะห์จากสถาบันมูดี้ส์ กล่าวว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯยังคงเคลื่อนไหวอย่างถูกทาง จึงไม่คิดว่าเฟดจะรีรอในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเราคาดว่าเฟดน่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม
จากผลประชุมเฟดวานนี้ ส่งผลให้กลุ่มนักลงทุน ประเมินว่า มีโอกาส 40% ที่จะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และอีก 50% มองความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ เฟดกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ระดับ 2% ขณะที่ระดับเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.7%
สำหรับจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการคนว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐฯออกมาดีขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 254,000 ราย หรือลดลง 4,000 รายเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งข้อมูลล่าสุดยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 รายต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 93 หรือยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1972 จึงยังบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ ข้อมูลดัชนีภาคการผลิตประจำเขตฟิลาเดเฟียประจำเดือนธันวาคมออกมาดีขึ้นเกินคาดอย่างมากแตะระดับ 21.5 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ดัชนีผลสำรวจภาวะธุรกิจโดยรวมออกมาดีขึ้นเกินคาดอย่างมากเช่นกันแตะระดับ 9.0 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 14 เซนต์ ที่ระดับ 50.90 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 18 เซนต์ ที่ระดับ 54.08 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นตลาดฟื้นตัวได้หลังจากที่ร่วงหลุดระดับแนวรับสำคัญทางเทคนิค ขณะที่ตลาดรอว่าการปรับลดภาวะอุปทานบางส่วนที่จะมาถึงของกลุ่มโอเปกจะส่งผลเช่นไรผ่านทางข้อมูลการส่งออก