ผู้ว่า ธปท.ประกาศปฏิรูปเกณฑ์ควบคุมแลกเปลี่ยนเงินตรา 4 แนวทาง ทยอยใช้ตั้งแต่ มิ.ย.-ปี 61 ทั้งการลดขั้นตอนและเอกสารสนับสนุนการใช้อิเล็กทรอนิกส์ ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้คล่องตัว เพิ่มทางเลือกให้รายย่อยทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มผู้ให้บริการเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ทั้งให้ให้ลงทุนหลักทรัพย์ตปท.โดยไม่ผ่านตัวแทน - บล.ทำธุรกิจเงินตราตปท.ได้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้เริ่มปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านต่างๆ ซึ่งได้เริ่มปฏิรูปเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นลำดับแรก เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายเก่า ที่ออกใช้มาตั้งแต่ปี 2485 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคาดว่าการดำเนินการในครั้งนี้ จะทำให้ลดต้นทุนของเอกชนได้มากกว่าพันล้านบาทต่อปี ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 และจะแล้วเสร็จในปี 2561
สำหรับการปรับโครงการปฏิรูปกฎเกณฑ์กับการแลกเปลี่ยนเงินครั้งนี้มีการทบทวนกฎหมายทั้งสิ้นประมาณ 80 ฉบับ เช่น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ การค้าการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของรายย่อย นอกจากนี้ การผ่อนคลายเกณฑ์ยังครอบคลุถึงการลดขั้นตอนการยื่นเอกสารที่ไม่จำเป็น ให้เอกชนทำธุรกรรมโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อธปท. รวมทั้งเพิ่มผู้เล่นในตลาดเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
• นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้เริ่มดำเนินการในกระบวนการปฏิรูปตั้งแต่ธันวาคม 2559 ซึ่งแนวทางในการดำเนินการประกอบด้วย 4 เรื่องหลักดังนี้
การปฏิรูปที่ 1 คือ การลดเอกสารที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ประกอบด้วย
1.ผ่อนคลายให้ชำระค่าสินค้าที่ไม่ได้นำเข้าหรือที่รับมอบในประเทศแก่บุคคลในต่างประเทศ
2.ลดเอกสารประกอบการโอนเงินออกนอกประเทศ เช่น ยกเลิกการแสดงงบการเงินและหนังสือชี้แจงรายละเอียด กรณีส่งเงินลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการที่ต่างประเทศ
3.เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้ายื่นเอกสารประกอบการขอโอนเงินออกนอกประเทศเป็นอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมลได้ ยกเลิกการกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ยกเลิกข้อกำหนดในการประทับตราของธนาคารพาณิชย์ ลงบนเอกสารประกอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ
• การปฏิรูปที่ 2 ธปท.ยังได้ประกาศยกเลิกและผ่อนคลายเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของภาคธุรกิจในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะประกอบด้วย
1.ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณี จากเดิมยกเลิกได้กรณีค่าสินค้าบริการเงินลงทุนโดยตรง เงินกู้ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้ยกเลิกได้ในกรณีที่มีเงินต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์
2.ให้บริษัทในเครือเดียวกันสามารถทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้ โดยไม่ต้องยื่นของธปท.เป็นรายกรณี
3.อนุญาตให้บริษัทและบริษัทในเครือที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและโอนเงินออกนอกประเทศได้ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมต่อธนาคารพาณิชย์ เว้นในวัน trad date และsettlement date โดยคุณสมบัติประกอบด้วย ไม่ใช่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสถาบันการเงิน และมีปริมาณธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตามที่กำหนด มีนโยบายบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทที่ชัดเจน และมีกรรมการของบริษัทหรือผู้ตรวจสอบภายนอก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2560
• การปฏิรูปด้านที่ 3 คือ การเพิ่มทางเลือกซื้อขายโอนเงินรายย่อย เพื่อเป็นการสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาคโดยการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อชำระค่าสินค้ารายย่อย และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มทางเลือกการซื้อขายโอนเงินรายย่อย ประกอบด้วย
1.ให้ลูกค้าสามารถโอนเงินออกนอกประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศผ่าน Money Transfer Agent หรือ MTได้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป
2.เพิ่มวงเงินโอนออก จากเดิมให้โอนเงินออกนอกประเทศได้ไม่เกินวงเงิน 200,000 บาทต่อรายลูกค้า ต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในสิ้นปี 2560
3.ผ่อนคลายคุณสมบัติผู้ยื่นของอนุญาต MTเช่น ทุนจดทะเบียน จากปัจจุบัน ผู้ยื่นขอประกอบุรกิจดังกล่าวต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2561
4.ให้ Money Changer หรือMC ให้ซื้อขายธนบัตรเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ หรือ MC ในต่างประเทศได้ จากเดิมได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งจะเริ่มได้ในเดือนมิถุนายน 2560
5.ให้ MC สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าในรูปอิเล็กทรอนิกส์ สกุลเงินตราต่างประเทศเช่น e-Money ได้
6.ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อสกุลเงินบาท แก่ non-ressident ที่เป็นผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อการลงทุนในประเทศไทย และที่เป็นผู้ประกอบการที่จัดตั้งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน
• การปฏิรูปด้านที่ 4 คือ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ประชาชน บริษัทมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่ ประกอบด้วย
1.ผ่อนคลายให้บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศ ภายใต้วงเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ ต่อรายต่อปี จากเดิม บุคคลรายย่อยที่มีสินทรัพย์ทางการเงินต่ำกว่า 100 ล้านบาท ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศเท่านั้น
2.ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ แก่บริษัทหลักทรัพย์ โดยให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ กับลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศได้ ภายใต้ธุรกิจนานหน้าค้าหลักทรัพย์
3.เพิ่มประเภทตัวกลางอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท ก หรือ เทียบเท่า เช่น ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจตราสารหนี้ (ประเภท ข.) จัดการกองทุน (ประเภท ค.) หน่วยลงทุน (ประเภท ง.) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเภท ส.1)
4.ให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในตลาด TFEX รายใหม่ๆสามารถยื่นขอใบอนุญาตเป็น broker currency futures ได้ จากเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าในกระบวยการทั้ง 4 ข้อนี้จะเริ่มดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี2560 เป็นต้นไป
ที่มา: Efinance Thai
อ่านข่าวฉบับเต็ม: http://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=jbtIKzkhr7g=&year=2017&month=6&lang=T&postdate=2017-06-05%2015:04