• เป็นที่คาดการณ์โดยทั่วไปว่า เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ จากระดับ 1.00% สู่ระดับ 1.25% ท่ามกลางตลาดแรงงานที่เริ่มอิ่มตัว โดยเฟดจะประกาศผลการประชุมในช่วงเวลาประมาณ 01.00น. ตามเวลาประเทศไทย และจะจัดงานแถลงข่าวในช่วงเวลา 01.30น.
อย่างไรก็ดี เฟดยังมีแนวโน้มจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนปรับลดพอร์ตงบดุลจำนวนกว่า 4 ล้านล้านเหรียญ ในการแถลงข่าวโดยนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด โดยนักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan ระบุว่า ตลาดน่าจะเคลื่อนไหวตามทิศทางของถ้อยแถลงดังกล่าวมากกว่า เนื่องจากตลาดได้ตอบรับกับข่าวโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว
• Goldman Sachs เผยมุมมองที่มีต่อการประชุมเฟด โดยระบุว่า โอกาสที่มีเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมีอยู่สูงมาก เนื่องจากตัวเลขอัตราว่างงานสหรัฐฯได้ปรับลดลง 0.4% นับตั้งแต่การประชุมเมื่อเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรวัดดุลการค้าของGoldman Sachs แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จึงน่าจะหนุนการจ้างงานที่สูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อกลับต่ำลง 0.2% เทียบกับตัวเลขเมื่อการประชุมเดือนมีนาคม 0.2%
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าว น่าจะชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แม้อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตั้งแต่ช่วงต้นปี 2017 ขณะที่ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป
• สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนการถือครองเงินตราจำนวน 5 ร้อยล้านยูโร จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินหยวนจีน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการค้าขายกับตลาดจีนและยุโรป
• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมผลิตของจีนประจำเดือนพ.ค.ขยายตัวดีกว่าคาดเล็กน้อยที่ระดับ 6.5% ขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นกว่า 10.7% อย่างไรก็ดีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค.ขยายตัวเพียง 8.6% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
• ผู้วิเคราะห์จากสถาบันการเงิน Merrill คาดว่าเฟดจะปรับเปลี่ยนแผนคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะต้องให้ความสนใจไปยังอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคาดจะลดลงอยู่ที่ระดับ 1.7% ในปีนี้ อย่างไรก็ดีในปี 2018 อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ที่ระดับ 2.0%
ขณะที่การแถลงข่าวจะเน้นเรื่องการปรับลดยอดงบดุล ซึ่งนางเจเน็ต เยเลน ประธานเฟดมีแนวโน้มที่จะถูกถามเกี่ยวกับรายละเอียดนโยบายงบดุลและระยะเวลาในการดำเนินงานที่เป็นไปได้ นอกจากนี้ยังคาดว่านางเจเนต เยเลนทราบถึงข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ออกมาอ่อนแอเมื่อเร็วๆนี้ อย่างไรก็ดีถ้อยแถลงของประธานเฟดอาจสร้างความกังวลให้กับตลาดมากขึ้น
• บีโอเจมีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมวันศุกร์นี้ และส่งสัญญาณที่จะยังไม่ยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำแม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม
• ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังจากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสรหัฐฯเพิ่มขึ้น รวมถึงจากรายงานของกลุ่มโอเปคที่ระบุว่ามียอดการผลิตเพิ่มขึ้น แม้จะมีคำมั่นสัญญาว่าจะลดกำลังการผลิตก็ตาม
ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลง 0.6% ที่ระดับ 48.41 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง 0.8% ที่ระดับ 46.10 เหรียญ/บาร์เรล