• สรุปรายงานผลประชุมเฟดเมื่อคืนนี้ พบว่า เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนตามคาด โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.25% สู่กรอบเป้าหมาย 1.00 – 1.25% และคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ทำจะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกกว่า 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าเฟดไม่ได้สนใจต่อความผันผวนของข้อมูลเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้
นอกจากนี้ เฟดยังกล่าวว่าจะเริ่มต้นทำการปรับลดการถือครองพันธบัตรและตราสารอื่นๆภายในปีนี้ จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดมีความมั่นใจต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน
เฟดระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และตลาดแรงงานยังมีความแข็งแรง และมีมุมมองว่าการอ่อนตัวของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น
การประชุมเฟดล่าสุดนั้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นชัดเจนครั้งแรก ที่จะทำการปรับลดยอดงบดุลจำนวน 4.2 ล้านล้านเหรียญในพอร์ตฟอลิโอ ที่ถือครองพันธบัตรและตราสารหนี้เอาไว้ ซึ่งเป็นการเข้าซื้อของเฟดในช่วงที่ใช้มาตรการ QE ตอนเกิดวิกฤตทางการเงินและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเมื่อช่วงปี 2007 – 2009 ซึ่งคาดว่าจะค่อยๆปรับลดยอดงบดุลให้เข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดี เฟดไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า ภาพรวมจะมีการปรับลดยอดงบดุลดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด
• ดัชนีราคาผู้บริโภคร่วงลงกว่าที่คาดในเดือนพ.ค. ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตรายปีที่ไม่รวมภาคอาหารและพลังงานปรับลดลงเช่นกันแตะระดับ 1.7% ซึ่งถือเป็นการร่วงลงเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่พ.ค. 2015 หลังจากที่ขยายตัวรายปีได้ 1.9% เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา
• ด้านยอดค้าปลีกสหรัฐฯร่วงลง 0.3% ในเดือน พ.ค. ซึ่งถือเป็นระดับการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะออกมาที่ระดับ 0.1% ท่ามกลางการร่วงลงของยอดซื้อรถจักรยานยนและการใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง
• รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ร่วงลงเกินคาดในเดือนพ.ค. ประกอบกับยอดค้าปลีกที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 เดือน บ่งชี้ถึง ภาวะอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศที่อ่อนตัว และอาจจำกัดความสามารถของเฟดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีนี้
• เมื่อคืนนี้ค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาแย่กว่าที่คาด ประกอบกับรับแรงกดดันจากปัญหาทางการเมืองในสหรัฐฯ หลังมีรายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะถูกสอบสวนโดยอัยการคดีพิเศษเกี่ยวกับประเด็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ขณะที่มีรายงานว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันถูกยิง โดยมือปืนระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นผลมาจากความไม่ชอบใจในตัวผู้นำสหรัฐฯคนปัจจุบัน โดยดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงไปทำจุดต่ำสุดบริเวณ 96.323 จุด หลังจากที่ร่วงลงกว่า 6% แล้วในปีนี้ ก่อนจะดีดกลับได้หลังทราบแนวทางการคุมเข้มทางการเงินของเฟด โดยเช้านี้ดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ระดับ 96.86 จุด
ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวบริเวณ 1.1210 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนทรงตัวแถวระดับ 109.35 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่เมื่อคืนนี้ปรับแข็งค่าลงมาทำระดับต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์ที่ระดับ 108.81 เยน/ดอลาร์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะระดับ 2.103% ก่อนจะทรงตัวแถวระดับ 2.129%
• นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังอยู่ภายใต้การสืบสวนของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งสภาคองเกรส นำโดยนาย โรเบิร์ต มูลเลอร์ เกี่ยวกับการพยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดี หลังนายเจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการ FBI ให้การยืนยันว่าเขาถูกสั่งปลดโดยนายทรัมป์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อขัดขวางการสืบสวน
• ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวลดลงเกือบ 4% ซึ่งถือเป็นการปิดระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน หลังจากที่ปริมาณสต็อกแก๊สโซลีนปรับขึ้นเกินคาด ประกอบกับมุมมองที่ว่าการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันจำนวนมากจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีนี้ ซึ่งถึงแม้ว่าในช่วงเวลากว่า 6 เดือน ทางกลุ่มโอเปกจะพยายามและร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิต แต่ราคาน้ำมันก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพอย่างที่หลายๆฝ่ายได้ประเมินไว้
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดร่วงลง 1.73 เหรียญ หรือคิดเป็น -3.7% ที่ระดับ 44.73 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 14 พ.ย. และถือเป็นการปิดร่วงลงแล้วกว่า 18% นับตั้งแต่ที่ขึ้นไปปิดระดับสูงสุดบริเวณ 54.45 เหรียญ/บาร์เรลในช่วงปลายเดือนก.พ. ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดร่วงลง 1.72 เหรียญ หรือคิดเป็น -3.5% ที่ระดับ 47 เหรียญ/บาร์เรล โดยถือเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ 29 พ.ย.