• ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ขณะที่ออสเตรเลียดอลลาร์แตะระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 ปี ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของจีน ประกอบกับความไม่แน่นอนที่ว่าเฟดจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งในปีนี้หรือไม่
ทั้งนี้ ข้อมูลจีดีพีไตรมาสที่ 2 ของจีนขยายตัวได้ 6.9% ขณะที่ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนก็สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจร่วมด้วย จึงหนุนให้ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าของจีนปรับแข็งค่าขึ้นด้วย และไปทำระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ระดับ 0.784 และจะมีเป้าหมายถัดไปที่ระดับเส้นค่าเฉลี่ยราย 200 สัปดาห์บริเวณ 0.8018 ออสเตรเลียดอลลาร์ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์อ่อนค่าลงมาเล็กน้อยบริเวณ 0.7819
- ดัชนีดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงไปทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ก.ย. บริเวณ 95.018 จุด ซึ่งเป็นระดับการอ่อนค่ารายวันมากที่สุด ขณะที่เช้านี้ทรงตัวแถวระดับ 95.157 จุด ซึ่งก็ยังเป็นระดับไม่ห่างจากจุดต่ำสุดรอบ 10 เดือน
- ด้านค่าเงินยูโรทรงตัวบริเวณ 1.1465 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนทรงตัวทิศทางแข็งค่าระดับ 112.83 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่เมื่อวันศุกร์แข็งค่าลงไปทำจุดต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์บริเวณ 112.24 เยน/ดอลลาร์
• คณะบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ยื่นเสนอเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปภาษีใหม่อีกครั้ง โดยให้ทำการปรับลดภาษีสำหรับนิติบุคคลเหลือประมาณ 20% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 15% เนื่องจากหากรัฐบาลเก็บภาษีน้อยลง อาจทำให้เกิดภาวะขาดดุลได้
• สหรัฐฯเผยแนวทางการกลับมาเจรจาข้อตกลงการค้า NAFTA ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 23 ปี โดยระบุว่า ขั้นตอนสำคัญขั้นแรกในการเจรจาจะเกิดขึ้นเพื่อต้องการลดยอดขาดดุลการค้าสหรัฐฯ ร่วมกับแคนาดา และเม็กซิโก โดยสหรัฐฯต้องการให้เกิด “ความเหมาะสม” ในเรื่องการจัดการด้านค่าเงินร่วมกับคู่ค้าทั้งสองประเทศ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้เกิดแนวทางของข้อตกลงการค้าในอนาคตได้ แต่ทางแคนาดา และเม็กซิโก ยังไม่ได้พิจารณาร่วมกับทางผู้กำหนดนโยบายค่าเงิน
• ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 49 เซนต์ หรือคิดเป็น -1% ที่ระดับ 48.42 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 52 เซนต์ หรือคิดเป็น -1.1% ที่ระดับ 46.02 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากที่วันศุกร์ต่างปรับขึ้นทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงประมาณ 1% จากกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยสัญญาณที่แข็งแกร่งของกลุ่มโอเปกในความพยายามที่จะควบคุมกำลังการผลิตให้เกิดประสิทธิผล แต่ปริมาณการผลิตยังคงเพิ่มขึ้นในขณะที่สมาชิกบางส่วนมีการปรับลดกำลังการผลิตลง จึงยังเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันให้กับตลาด โดยจะเห็นได้ว่า ลิเบียมีกำลังการผลิตที่ระดับ 1.03 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตเพียงเล็กน้อยจากระดับในช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี สัญญาณชี้วัดทางเทคนิคของราคาน้ำมันดิบยังส่งสัญญาณเป็นขาขึ้น จากการที่ราคามีการปรับตัวขึ้นเหนือเส้นค่าเฉลี่ยราย 50 วันในระยะสั้น